วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554

First 3D Project: Mystery Wood

Mystery Wood, 2011

Tissue, Sand, Flower, Quink Ink, Bleach, PVA Glue

Flower

Feel Blue

Sand

Movement 

Mystery Wood, 30 September 2011





J

วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

If you want to sing out, sing out


หากคุณอยากจะร่ำร้อง จงร้อง
หากคุณต้องการจะเป็นอิสระ จงอิสระ
เพราะมีอีกหลายล้านสิ่งที่คุณสามารถเป็น
คุณก็รู้ว่ามันคืออะไร

หากคุณอยากจะบินสูง จงบินสูง
หากคุณต้องการจะบินต่ำ จงบินต่ำ
เพราะมีอีกหลายล้านสิ่งที่คุณสามารถก้าวไป
คุณก็รู้ว่ามันคือที่ไหน

คุณสามารถทำสิ่งที่คุณปรารถนา
โอกาสนั้นหนา มันมีอยู่
และหากคุณหาหนทางใหม่ที่จะก้าวเดิน
คุณก็ทำมันได้ตั้งแต่นี้
คุณก็ทำให้ประจักษ์จริงได้
และคุณก็ทำมันสูญสลายได้เช่นกัน
เห็นไหม...
ช่างง่ายดาย...
เพียงว่าคุณต้องเข้าใจ...

หากคุณอยากจะกล่าว ใช่ จงกล่าว ใช่
หากคุณต้องการจะเอ่ย ไม่ จงเอ่ย ไม่
เพราะมีอีกหลายล้านสิ่งที่คุณสามารถก้าวไป
คุณก็รู้ว่ามันคือที่ไหน

หากคุณอยากจะเป็นฉัน จงเป็นฉัน
หากคุณต้องการจะเป็นคุณ จงเป็นคุณ
เพราะมีอีกหลายล้านสิ่งที่คุณสามารถทำได้
คุณก็รู้ว่ามันคือสิ่งใด

คุณสามารถทำสิ่งที่คุณปรารถนา
โอกาสนั้นหนา มันมีอยู่
และหากคุณหาหนทางใหม่ที่จะก้าวเดิน
คุณก็ทำมันได้ตั้งแต่นี้
คุณก็ทำให้ประจักษ์จริงได้
และคุณก็ทำมันสูญสลายได้เช่นกัน
เห็นไหม...
ช่างง่ายดาย...
เพียงว่าคุณต้องเข้าใจ...

หากคุณอยากจะร่ำร้อง จงร้อง
หากคุณต้องการจะเป็นอิสระ จงอิสระ
เพราะมีอีกหลายล้านสิ่งที่คุณสามารถเป็น
คุณก็รู้ว่ามันคืออะไร...
คุณก็รู้ว่ามันคือที่ไหน...
คุณก็รู้ว่ามันคือสิ่งใด...
คุณก็รู้ว่า...

: Cat Stevens, Yusuf Islam





J

วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เมื่อใบไม้ใกล้ปลิดปลงเจอกับโจรขโมยน้ำ


ภายหลังจากที่ข่าวคราวเกี่ยวกับการลักลอบขโมยอาหาร ซึ่งได้รับจากการบริจาคโดยประชาคมโลก เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบทุพภิกขภัยในประเทศโซมาเลีย แพร่สะพัดออกมา ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการจัดการและแนวทางแก้ไขปัญหา โดยเจ้าหน้าที่โครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ หรือดับบลิวเอฟพี ประกาศเตรียมเร่งดำเนินการสืบสวนกรณีดังกล่าว ขณะที่ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถหยุดส่งมอบความช่วยเหลือลงไปยังพื้นที่ได้ เนื่องจากความรุนแรงของวิกฤติการณ์ที่กำลังคุกคามชาวโซมาเลียขณะนี้

องค์การสหประชาชาติเรียกร้องความช่วยเหลือจากนานาชาติ หลังประชาชนชาวโซมาเลียจำนวนกว่า 3 ล้าน 2 แสนคน ประสบปัญหาความอดอยาก เนื่องจากต้องเผชิญทั้งปัญหาภัยแล้งครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 60 ปี และเหตุการณ์ความรุนแรงเพื่อแย่งชิงอำนาจท้องถิ่น โดยเจ้าหน้าที่สหรัฐฯกล่าวว่า มีเด็กชาวโซมาเลียอายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิตจากการขาดสารอาหารแล้วเป็นจำนวนถึงกว่า 29,000 ราย

แต่ความช่วยเหลือซึ่งเริ่มหลั่งไหลมาจากทั่วโลก กลายเป็นเหตุการณ์อื้อฉาว เมื่อมีผู้พบเบาะแสการลักลอบขโมยอาหารบริจาคไปขายตามร้านค้าท้องถิ่น โดยผู้สื่อข่าวต่างประเทศรายงานว่า พบร้านค้าจำนวนมาก มีกองกระสอบอาหารที่มีตราประทับของดับบลิวเอฟพี, หน่วยงานการกุศลสหรัฐฯ รวมถึงรัฐบาลญี่ปุ่น

อาหารที่ตกไปอยู่ในมือพ่อค้าหรือนักธุรกิจ มาจากทั้งการลักลอบขโมยและการใช้กำลังบังคับเอาจากผู้ประสบภัย โดยประชาชนในค่ายผู้อพยพรายหนึ่งกล่าวว่า เขาได้รับบริจาคข้าวโพดกระสอบมาแล้ว 2 ครั้ง และทุกครั้ง เขาถูกบังคับให้ต้องแบ่งครึ่งหนึ่งของสิ่งของบริจาค ให้กับหัวหน้าผู้ดูแลค่ายลี้ภัย เพื่อแลกกับการได้อยู่ในค่ายต่อไป

ส่วนเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในกรุงโมกาดิชู ของโซมาเลีย กล่าวว่า อาหารบริจาคอาจถูกขโมยเป็นจำนวนมากถึงครึ่งหนึ่งของปริมาณอาหารบริจาคทั้งหมด โดยเขาเชื่อว่าผู้อยู่เบื้องหลังคือกลุ่มนายทุนไร้ศีลธรรม ที่แม้จะได้ส่วนแบ่งคิดเป็นรายได้เพียงน้อยนิด แต่ความช่วยเหลือที่หลั่งไหลเข้ามายังโซมาเลีย โดยขาดการควบคุมที่เข้มงวด ทำให้การขโมยและขายสินค้าบริจาค กลายเป็นช่องทางธุรกิจ ที่ทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ

ปัญหาที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความสามารถในการเข้าถึงผู้ประสบภัย ของหน่วยงานการกุศล รวมถึงความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นของทางการโซมาเลีย ขณะที่เจ้าหน้าที่โครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า การติดตามผลการช่วยเหลือในโซมาเลีย เป็นงานที่มีความสุ่มเสี่ยง โดยตั้งแต่เมื่อปี 2551 มีเจ้าหน้าที่ดับบลิวเอฟพี เสียชีวิตแล้วถึง 14 ราย

การส่งความช่วยเหลือให้ผู้ประสบภัยในโซมาเลีย ยังเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น แต่ปัญหาการลักลอบขโมยอาหารบริจาค ก็เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายต้องหันมาลงมือแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อให้การบริจาคและการช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะไม่เช่นนั้น ก็จะกลายเป็นเหมือนที่หัวหน้าหน่วยงานการกุศล ผู้ติดตามสถานการณ์โซมาเลีย กล่าวไว้ว่า ระหว่างการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เราได้แบ่งอาหารให้กองกำลังติดอาวุธและกลุ่มผู้มีอิทธิพลรอดพ้นจากวิกฤติภัยแล้ง เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสกลับมาคร่าชีวิตชาวโซมาเลีย ที่เราพยายามช่วยเหลือและรักษาไว้ในวันนี้





J

วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2554

'ภัยก่อการร้าย' กับเสียงร้องไห้ที่ไม่มีใครได้ยิน

ภายในระยะเวลาเพียง 2 วัน เกิดเหตุวินาศกรรมขึ้นถึง 3 ประเทศ และมีผู้เสียชีวิตรวมกันเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 100 คน

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เกิดเหตุระเบิดพลีชีพขึ้นบริเวณตอนกลางของประเทศอัฟกานิสถาน ระหว่างการประชุมเจ้าหน้าที่หน่วยงานรักษาความปลอดภัยรัฐบาล โดยพยานในที่เกิดเหตุกล่าวว่า ได้ยินเสียงระเบิดไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง บริเวณฐานที่มั่นของเมืองปาร์วาน ขณะที่เจ้าหน้าที่สามารถวิสามัญคนร้าย ก่อนจะทันก่อเหตุระเบิดอีกจุดหนึ่งได้ เหตุวินาศกรรมที่เกิดขึ้นส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 22 ราย ได้รับบาดเจ็บอีก 34 คน โดยกว่า 16 รายของเหยื่อระเบิดพลีชีพในครั้งนี้ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทำงานในบริเวณดังกล่าว


วันเดียวกัน ที่ประเทศปากีสถาน เกิดเหตุลอบวางระเบิดในโรงแรมทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 12 ราย และได้รับบาดเจ็บอีก 20 คน โดยก่อนหน้านั้นไม่กี่ชั่วโมง กองกำลังติดอาวุธไม่ทราบฝ่ายได้ยิงจรวดเข้าโจมตีค่ายทหาร จนมีผู้เสียชีวิต 3 ราย ซึ่งเหตุการณ์วินาศกรรมสองครั้งซ้อน เกิดขึ้นในระหว่างการเฉลิมฉลองครบรอบวันประกาศเอกราช ปีที่ 64 โดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกล่าวว่า คนร้ายได้ลอบเข้าไปวางระเบิดในโรงแรมและกดระเบิด ในขณะที่มีประชาชนนั่งกันอยู่เต็มบริเวณห้องโถง


ส่วนวันนี้ ที่ประเทศอิรัก บริเวณเมืองคุต เกิดเหตุคาร์บอมบ์ และลอบวางระเบิดแสวงเครื่อง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 34 ราย และได้รับบาดเจ็บอีกถึง 65 คน ขณะที่ในเวลาไร่เรี่ยกัน คนร้ายได้ก่อเหตุวินาศกรรม ทั้งลอบยิง, คาร์บอมบ์ รวมถึงระเบิดพลีชีพ อีกกว่า 12 จุดทั่วประเทศ ทำให้มีเหยื่อวินาศกรรมภายในวันนี้วันเดียว รวมแล้วกว่า 52 ราย เหตุการณ์ความรุนแรง เกิดขึ้นหลังจากเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ทางการอิรักประกาศเจรจากับรัฐบาลกรุงวอชิงตัน ในเรื่องของการขยายกรอบเวลาโครงการฝึกทหารต่อจากปลายปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ สหรัฐฯต้องถอนทหารจำนวนกว่า 47,000 นาย ออกจากอิรัก ตามข้อตกลงทวิภาคี ที่ทำกันเอาไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2551


นับตั้งแต่วันที่โลกเริ่มประกาศสงครามกับภัยคุกคาม ด้วยการใช้กองกำลังทหารเข้าปราบปราม เหตุวินาศกรรมและการก่อการร้ายกลับมีแต่ยิ่งรุนแรงและโหดร้ายมากขึ้น จนทำให้ความรู้สึกของประชาชนทั่วไป ต่อการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินพลเมืองโลก เริ่มกลายเป็นความเฉยชา


จะถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่โลกจะหันกลับมาทบทวนบทเรียนโศกนาฏกรรมครั้งแล้วครั้งเล่า และเริ่มต้นดำเนินมาตรการจัดการกับความรุนแรงเสียใหม่ ก่อนที่ความรู้สึกสำนึกในมนุษยธรรมจะถูกทำลาย จนกลายเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย และทำให้เรา 'ตายด้าน' กับ 'การตาย' ของใครสักคนหนึ่ง





J

วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554

'ชนวน' จลาจลอังกฤษ



จากเหตุการณ์ 'น้ำผึ้งหยดเดียว' เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจวิสามัญฆาตกรรมมาร์ก ดักเกน ชายชาวอังกฤษวัย 29 ปี บานปลายกลายเป็นปัญหาระดับประเทศ ด้วยเหตุลอบวางเพลิง และจลาจลในหลายเมืองของเกาะอังกฤษ

ทางการอังกฤษเตรียมส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 13,000 นาย เข้าประจำการในกรุงลอนดอน เพื่อควบคุมการจลาจล ที่อาจจะเกิดขึ้นเป็นคืนที่ 4 หลังเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวานนี้ ขยายจากทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน ไปทางตอนใต้ในเขตครอยดอน และอีกหลายเมืองทั้งเบอร์มิงแฮม, ลิเวอร์พูล, นอตติ้งแฮม และบริสตอล บ้านเรือนร้านค้าได้รับความเสียหายหลายหลัง ทั้งจากการบุกเข้าทำลายขโมยข้าวของ และการวางเพลิง

การประท้วงครั้งแรกเริ่มต้นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา หลังการเสียชีวิตของมาร์ก ดักเกน โดยครอบครัวและสมาชิกชุมชนท้องถิ่นราว 120 คน เดินชุมนุมบนถนนย่านท็อตแนม เพื่อเรียกร้องให้ทางการเปิดเผยสาเหตุการวิสามัญคุณพ่อลูกสี่วัย 29 ปี แต่การเดินประท้วงอย่างสงบ จบลงในช่วงค่ำด้วยความรุนแรง เมื่อกลุ่มวัยรุ่นบุกเข้าทุบรถตำรวจ และขโมยข้าวของในร้านค้าบริเวณดังกล่าว ขณะที่เจ้าหน้าที่กล่าวว่า เหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นเนื่องจากกลุ่มคนนอก ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ฉวยโอกาสร่วมผสมโรงก่อความวุ่นวาย

ช่วงเย็นวันอาทิตย์ เหตุการณ์ลักษณะเดียวกันเกิดขึ้น เมื่อกลุ่มอันธพาลวัยรุ่นบุกเข้าทำลาย และขโมยของร้านค้าย่านเอนฟิลด์, บริกซ์ตัน และอ๊อกซฟอร์ดเซอร์คัส โดยผู้สื่อข่าวอังกฤษรายงานว่า เหตุการณ์จลาจลในวันที่ 2 คล้ายมีการเตรียมการ ผ่านการติดต่อทางโลกไซเบอร์ ซึ่งรวมถึงโทรศัพท์มือถือแบล็คเบอร์รี่

แต่เหตุการณ์ช่วงเย็นเมื่อวานนี้ การจลาจลแพร่กระจายออกนอกกรุงลอนดอน ไปอีกหลายเมืองทั้งลิเวอร์พูล, เบอร์มิงแฮม และบริสตอล ขณะที่ระดับความรุนแรงได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นการปล้นสะดม และลอบวางเพลิง โดยล่าสุด เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้แล้วราว 334 ราย

ปัจจัยที่ส่งผลให้ความรุนแรงบานปลายอาจมองได้จากหลายลักษณะ แต่จากการที่เหตุจลาจลแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และรูปแบบการก่อเหตุที่มุ่งเน้นสร้างความเสียหาย รวมถึงปล้นสะดม ซึ่งต่างก็ไม่เกี่ยวข้อง หรือมีนัยยะเรียกร้องความเป็นธรรมให้มาร์ก ดักเกน จึงอาจพอมองได้ว่า เหตุการณ์จลาจลขณะนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับการตายของดักเกนโดยตรง

ที่น่าสนใจคือประเด็นปัญหาเศรษฐกิจ ที่กำลังรุมเร้าชาวอังกฤษอย่างหนัก ซึ่งหากนำไปประกอบกับจุดที่เกิดเหตุความรุนแรง ทั้งในย่านครอยดอน, แฮกนีย์, บริกซ์ตัน และในเมืองอื่นๆ เช่นเบอร์มิงแฮม ที่นอกจากจะเป็นย่านที่มีสถิติอาชญากรรมและปัญหาสังคมเกิดขึ้นอยู่สูง บางย่านยังมักเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนชั้นล่าง รวมถึงผู้อพยพ ที่ต้องแบกรับปัญหาพิษเศรษฐกิจหนักกว่ากลุ่มคนชนชั้นอื่น วิกฤติจลาจลในประเทศอังกฤษ จึงอาจเป็นหนึ่งในตัวอย่าง การปะทุของปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่เรื้อรังมานาน โดยมีการตายของมาร์ก ดักเกน เป็นเพียงตัวจุดชนวนเท่านั้น




J

วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วินาศกรรมนอร์เวย์จากฝีมือของคนทั้งสังคม




แอนเนอร์ส เบห์ลิง เบรวิก ชายชาวนอร์เวย์วัย 32 ปี ผู้ต้องหาคดีวินาศกรรม 2 ครั้งซ้อน ในประเทศนอร์เวย์ ถูกนำชื่อไปพ่วงโยงกับ แถลงการณ์ 2083: A European Declaration of Independence หรือ ปี 2083 การประกาศอิสรภาพของยุโรป แถลงการณ์ที่มีเนื้อหาเชื่อมโยงไปถึงแรงจูงใจในการก่อเหตุโศกนาฏกรรม รวมถึงวิธีการและขั้นตอนเบื้องต้นในการปฏิบัติงาน

สื่อมวลชนต่างชาติวิเคราะห์ว่า แถลงการณ์ 2083: A European Declaration of Independence คือหัวใจหลักสำคัญอีกประการ ที่จะทำให้เข้าใจความคิดเบื้องหลังของ แอนเนอร์ส เบห์ลิง เบรวิก นอกจากคำให้การที่เขากล่าวต่อศาลนอร์เวย์ ซึ่งแม้ตามชื่อปกของแถลงการณ์ดังกล่าวจะมีชื่อผู้เขียนว่า แอนดรูว์ เบอร์วิค แต่คนเขียนได้กล่าวถึงตัวเองในภายหลังว่าชื่อ แอนเนอร์ส เบห์ลิง เบรวิก และแม้จะไม่มีใครสามารถกล่าวยืนยันได้ว่าแถลงการณ์ 2083: A European Declaration of Independence หรือคลิปวิดีโอเกี่ยวกับแถลงการณ์ ความยาว 12 นาทีในยูทูป เป็นฝีมือของแอนเนอร์ส เบห์ลิง เบรวิก แต่หากมองถึงรายละเอียดก็อาจจะพอสังเกตได้ถึงความเชื่อมโยง

เอกสารความยาวกว่า 1,500 หน้า มีเนื้อหาใจความหลักกล่าวถึงการต่อต้านชาวมุสลิมในยุโรป และวัฒนธรรมมาร์กซิสม์ ที่ยังฝังรากลึกอยู่ในระบบสังคมโลก โดยแถลงการณ์เริ่มต้นว่า ภายในปี 2050 ประชากรส่วนใหญ่ของชาวยุโรปทั้งหมด จะเป็นพวกมุสลิม นอกจากเราจะเริ่มต้นขั้นตอนการล้มล้างกลุ่มพวกสนับสนุนความหลากหลายทางวัฒนธรรม

แถลงการณ์ 2083: A European Declaration of Independence แสดงให้เห็นความเป็นนักอนุรักษ์นิยมและการเหยียดผิว โดยเฉพาะมุสลิมอย่างสุดโต่ง ทั้งการวิจารณ์เหตุการณ์สังหารโหดในสงครามโคโซโว และขับไล่พวกมุสลิมชาวอัลเบเนียนกลับประเทศ เมื่อปี 1999 ว่าเป็นสิ่งที่ชอบธรรม หรือวิพากษ์ว่า การมอบรางวัลโนเบล ให้กับยัสเซอร์ อาราฟัต ผู้นำชาวปาเลสไตน์ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

ผู้เขียนยังได้กล่าวถึงปี 2083 ว่า จะเป็นปีซึ่งสงครามกลางเมืองในยุโรปจบลง พร้อมความพ่ายแพ้ของวัฒนธรรมมาร์กซิสม์ รวมถึงการเนรเทศชาวมุสลิมทั้งหมด ขณะที่วิดีโอเกี่ยวกับแถลงการณ์ 2083 ที่โพสในยูทูป มีภาพของแอนเนอร์ส เบห์ลิง เบรวิก ในชุดนาวิกโยธินสหรัฐฯ และตราไม้กางเขน, อัศวัน รวมถึงสัญลักษณ์ขององค์กรใต้ดิน ฟรีเมสัน ขณะที่อีกภาพเป็นแอนเนอร์ส เบห์ลิง เบรวิก ถือปืนไรเฟิล และสวมชุดที่มีข้อความตรงไหล่ว่า 'นักล่ามาร์กซิสต์'

โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในนอร์เวย์ ที่คร่าชีวิตผู้คนบริสุทธิ์ไปร่วมหนึ่งร้อยราย พอจะบอกอะไรแก่เราได้บ้าง การต่อสู้ที่จำเป็นในขณะนี้ อาจไม่ใช่สงครามระหว่างโลกตะวันตกกับชาวมุสลิม แต่แท้ที่จริงแล้ว มันเป็นเรื่องของการต่อสู้ระหว่างคนธรรมดา กับพวกไร้สติที่อ้างการกระทำทุกครั้งของตัวเอง ว่าเป็นไปตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า กลุ่มคนอย่างแอนเนอร์ส เบห์ลิง เบรวิก, กลุ่มคลั่งชาติ, ซ้ายและขวาจัด, คริสเตียนและมุสลิมหัวรุนแรง คือผลผลิตของสังคมที่ผิดเพี้ยน จนทำให้บุคคลกลุ่มนี้ มีลักษณะร่วมคล้ายกันบางประการ โดยเฉพาะอาการหวาดกลัว 'ความแตกต่าง' เนื่องจากสิ่งนี้ มักนำมาซึ่งความรู้สึกไม่ปลอดภัย

เหตุการณ์วินาศกรรมที่นอร์เวย์ ไม่ได้เกิดขึ้นจากฝีมือของคนๆเดียว แต่มันเป็นผลมาจากการสั่งสมและปลูกฝังความคิดความเชื่อผิดๆบางประการ ที่ 'คนทั้งสังคม' ควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบ โดยไม่ใช่ด้วยการกำจัดให้ 'หายไป' แต่ต้องให้ 'การรักษา' เพื่อความเข้าใจร่วมกันว่า เราสามารถยืนอยู่ด้วยกันได้ แม้บน 'ใจ' ที่มีความแตกต่าง





J

วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554

น้ำตาที่ยังไหลกับสันติภาพที่ยังมองไม่เห็นของซีเรีย




แล้วบาชาร์ อัล อัสซาด ผู้นำเรีย ก็ตัดสินใจใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดเข้าจัดการกับกลุ่มผู้ประท้วงในเมืองฮามา เช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่พ่อของเขาผู้เคยปกครองซีเรีย ใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงชาวซุนหนี่ เมื่อปี 2525 จนเป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตนับหมื่นราย

ในเหตุการณ์ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้ประท้วงทั่วประเทศ ตามคำสั่งของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อาซาด เมื่อวานนี้ ส่งผลให้มีประชาชนเสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 140 ราย และได้รับบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน โดยที่เมืองฮามาเพียงเมืองเดียว แหล่งข่าวท้องถิ่นให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างชาติว่า มีคนตายประมาณ 115 คน

เนื่องจากปัญหาที่ทางการซีเรียปิดกั้นการเข้าติดตามสถานการณ์ของสื่อต่างชาติ ทำให้การยืนยันตัวเลขและผลกระทบที่เกิดจากการเคลื่อนรถถังเข้าไปในเมืองฮามา เป็นไปอย่างยากลำบาก โดยการใช้กำลังเข้าสังหารหมู่ในเมืองฮามานี้ เกิดขึ้นภายหลังการชุมนุมของประชาชนจำนวนกว่า 500,000 คน เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งต้องการให้ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาดลงจากตำแหน่ง

ขณะที่สื่อต่างชาติวิพากษ์วิจารณ์ถึงสาเหตุที่เมืองฮามา กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ทางการซีเรียให้ความสำคัญในการล้อมปราบกลุ่มผู้ประท้วง ก็เนื่องมาจากจำนวนผู้ประท้วงในเมืองที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล จนฮามากลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้าน ด้านนักพิทักษ์สิทธิมนุษยชนรายงานว่า นับตั้งแต่การประท้วงต่อต้านรัฐบาลซีเรียเริ่มต้นขึ้น มีประชาชนเสียชีวิตแล้วทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 1,700 ราย และได้รับบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนหลายพันคน ซึ่งตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา แม้บาชาร์ อัล อัสซาด จะออกแถลงการณ์เตรียมปฏิรูปประเทศ แต่ก็ยังไม่ตรงกับความต้องการของประชาชนที่ยืนยันเรียกร้อง ประชาธิปไตยและเสรีภาพ

ข้อเรียกร้องที่ยังมีปัญหาก็เช่น การลงจากตำแหน่งของบาชาร์ อัล อัสซาด ผู้นำซีเรียแสดงออกอย่างชัดเจนว่า ไม่มีทางปฏิบัติตามข้อเรียกร้องนี้ ยุติกฏหมายสถานการณ์ฉุกเฉินที่ใช้มากว่า 48 ปี ทางการซีเรียมีคำสั่งยกเลิกตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม เมื่อวันที่ 21 เมษายน แต่เหตุการณ์หลังจากนั้นกลับตามมาด้วย การสังหารประชาชนกว่า 1,300 ราย และจับกุมผู้ประท้วงหลายหมื่นคน

ความรุนแรงที่เพิ่มระดับมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้หลายฝ่ายเริ่มหันไปมองท่าทีของนานาชาติ แต่นับจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีคำสั่งประกาศใช้มาตรการบทลงโทษที่เข้มข้นกับผู้นำซีเรีย หรือการส่งกำลังทหารเข้าแทรกแซงช่วยเหลือประชาชน โดยสาเหตุหลัก เชื่อกันว่า เป็นเพราะการเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางด้านความมั่นคงในโลกอาหรับ และความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของผู้นำซีเรียกับประเทศเพื่อนบ้าน

ซีเรียถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากในโลกตะวันออกกลาง เนื่องจากการเป็นชาติที่มีคณะผู้ปกครองเป็นชาวชีอะห์ เช่นเดียวกับอิหร่าน ชาติพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ, อิสราเอล และซาอุดิอาระเบีย ซึ่งความไม่แน่นอนที่อาจบานปลายไปเป็นการล่มสลายของระบบการปกครองแบบอัสซาด ย่อมส่งผลโดยตรงต่อเสถียรภาพและสันติภาพ

หลายฝ่ายเชื่อว่า หากบาชาร์ อัล อัสซาด ยอมลงจากอำนาจ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการแย่งชิงอำนาจจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง ซึ่งหากการเปลี่ยนแปลงขั้วการเมืองนั้น กลุ่มชีอะห์เป็นฝ่ายพ่ายแพ้  ความรุนแรงระหว่างอาหรับ กับประเทศที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาอย่างอิสราเอล อาจลุกโชนขึ้นมาอีกครั้ง เพราะขาดตัวกลางที่เชื่อมความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านชาตินิกายชีอะห์ ผู้มีอำนาจในการปกครองกลุ่มคนนิกายอื่นๆในประเทศของตน อย่างบาชาร์ อัล อัสซาด

สถานการณ์ความขัดแย้งในซีเรียจึงเป็นเรื่องที่มีความละเอียดซับซ้อน และรอคอย 'ปรากฏการณ์' บางอย่างที่จะมายุติเรื่องราวทั้งหมด โดยหวังได้แต่เพียงว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจะนำมาซึ่งสันติภาพของโลก และจบการเข่นฆ่าของเพื่อนมนุษย์





J

วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ผู้เสกสรร 'ความเทา' ของคน ให้กลายเป็น 'ความงาม' ของมนุษย์

'ลูเซียน ฟรอยด์' อาจไม่ใช่ชื่อที่คุ้นหูคนไทย (ชนชาติที่ตัดสินทุกอย่างเพียงขาวและดำ) เท่ากับ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ คุณปู่บรรพบุรุษชื่อก้อง แต่ศิลปินชาวอังกฤษผู้นี้ คือหนึ่งในยอดศิลปินร่วมสมัย ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ทั้งในแง่ของชื่อเสียง, แนวทางความโดดเด่นของชิ้นงานศิลปะ และรายได้จากการค้าขายผลงานภาพของตัวเอง โดยเมื่อปี 2551 ภาพพอร์เทรต 'Benefits Supervisor Sleeping' ซึ่งลูเซียน ฟรอยด์วาดไว้เมื่อปี 2538 ขายประมูลได้ราคาถึง 33 ล้าน 6 แสนดอลลาร์ หรือประมาณ 1 พันล้านบาท ทำลายสถิติราคาขายประมูลผลงานศิลปะของศิลปินที่ยังมีชีวิตโลดแล่นสร้างสรรค์นามธรรมและรูปธรรมอยู่ทุกคน


'Benefits Supervisor Sleeping' 1995


ลูเซียน ฟรอยด์ เกิดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ปี 2465 ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี มีสถานะตามใบเกิดเป็นหลานชายคนโตของซิกมุนด์ ฟรอยด์ ยอดนักจิตวิทยาชาวออสเตรีย

ความโด่งดังของปู่อาจช่วยเขาบ้างไม่มากก็น้อย แต่สุดท้าย ลูเซียน ฟรอยด์ ก็สามารถสร้างชื่อขึ้นมา ด้วยลำแข้ง (หรือเรียกให้ถูกว่าด้วยลำแขน) ของตัวเอง และถูกจดจำในฐานะของหนึ่งในศิลปินที่ยอดเยี่ยมที่สุดในศตวรรษที่ 20 ด้วยทักษะความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งที่มนุษย์โลกนิยามกันว่า 'ศิลปะ'


'Reflection' 1985


ผลงานของลูเซียน ฟรอยด์ ได้รับการยกย่องในแง่ของอารมณ์และสัญลักษณ์ ซึ่งเน้นการเปิดให้ผู้เสพงานได้มีโอกาสสำรวจลึกลงไปในจิตใจของมนุษย์ผ่านทางผืนผ้าใบ โดยลูเซียน ฟรอยด์ เคยกล่าวว่า 'เขาสนใจปรากฏการณ์ที่ทำให้มนุษย์มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง มากกว่าบทสรุปว่า มนุษย์มีลักษณะอย่างไร'

'Large Interior W11' 1981-1983


ในยุคแรกของการทำงาน ผลงานของลูเซียน ฟรอยด์ มักมีลักษณะเหนือจริง เขาโดดเด่นในการจัดวางตำแหน่งของคนและวัตถุแบบผิดรูปและอย่างผิดปกติ เช่น 'Girl with a Kitten' หรือ 'Hotel Bedroom' ก่อนจะค่อยๆเปลี่ยนมาเป็นสไตล์ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งฟรอยด์จงใจใช้ลวดลายฝีแปรงสร้างมิติของรูปร่างมากขึ้น และภาพดูมีความตื้นลึกและสื่ออารมณ์ละเลียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น เช่นงาน 'Large Interior Paddington'


'Girl with a Kitten' 1947


'Hotel Bedroom' 1954


'Large Interior Paddington' 1969


ลูเซียน ฟรอยด์ มักวาดภาพโดยนำบุคคลใกล้ตัวมาเป็นแบบ เช่นเพื่อน, ครอบครัว หรือคนรัก โดยหนึ่งในชุดภาพที่อยู่ในความทรงจำของใครหลายคน ก็เช่นซีรีส์พอร์เทรตรูปแม่ 'The Painter's Mother' หรือ 'After Cézanne' ที่โดดเด่นในแง่ของการจัดวางสัดส่วนผิดปกติ แต่สื่ออารมณ์หนักหน่วง รวมไปถึงภาพ 'Queen Elizabeth II' ซึ่งลูเซียน ถูกสื่อมวลชนอังกฤษหลายสำนักวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องของความเหมาะสม แต่อย่างที่หลายคนน่าจะเดากันถูกว่า ลูเซียน ฟรอยด์ดูจะไม่ยี่หระเท่าไร ต่อประเด็นนี้


'The Painter's Mother' 1972


'After Cézanne' 1999-2000


'Queen Elizabeth II' 2000-2001


ผลงานของลูเซียน ฟรอยด์ถูกนำไปจัดแสดงตามหอศิลป์ และพิพิธภัณฑ์ต่างๆทั่วโลกมากมาย ขณะที่ตัวเขาเองก็เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิง Turner Prize ซึ่งเป็นรางวัลใหญ่ของหมู่ศิลปินชาวอังกฤษ เมื่อปี 2532

สื่ออังกฤษตีข่าวการเสียชีวิตของลูเซียน ฟรอยด์ เมื่อวานนี้ หลังได้รับการยืนยันว่า ยอดศิลปินวัย 88 ปี จากโลกนี้ไปด้วยอาการป่วยที่ไม่ทราบสาเหตุ เมื่อวันพุธที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ปิดตำนานศิลปินที่โดดเด่นที่สุดในหมู่ศิลปินชาวอังกฤษร่วมสมัย ซึ่งบุกเบิกการตีแผ่แง่มุม 'เทาๆ' ของความเป็นมนุษย์ออกมาได้อย่างงดงาม โดยทิ้งผลงานให้เป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญของศิลปินรุ่นใหม่ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ตามความเชื่อที่เคยมีสายลมมากระซิบบอกว่า 'อายุศิลปินมักยืนยาวกว่ามนุษย์ทั่วไป เพราะความตายไม่อาจพรากจิตวิญญาณของศิลปินที่ถูกฝังอยู่ในผลงานศิลปะของเขาได้'

วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2554

‘City Lights Bookstore’ เมืองแห่งแสง ต้นทางความสว่าง



โลกยุค 60 คือช่วงเวลาฝันสลายของอเมริกัน ดรีม, ช่วงเวลาปะทุของความขบถที่อัดอั้น และช่วงเวลาสำคัญของกลุ่มบีท

ชนกลุ่มสำคัญที่ไม่เพียงเป็นต้นกำเนิดแนวคิดการดำรงตนแบบฮิปปี้ แต่คือผู้บุกเบิกและแผ้วทางแนวทางของการตั้งคำถามกับสังคม จนมักถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกประพฤติตัวขัดต่อศีลธรรมอันดี และเป็นภัยต่อสังคม


กลุ่มบีท เป็นการรวมตัวของนักเขียนแนวขบถ ที่รวมตัวกันช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นจากมหานครนิวยอร์ค ก่อนจะมาร่วมหัวจมท้ายก่อตั้งเป็นกลุ่มก้อนกันที่ ซาน ฟรานซิสโก ใจความของบีท คือการสะลัดวัตถุนิยม และน้อมนำแนวคิดของศาสนาฝั่งตะวันออก, การพี้ยาเสพติดและการกำเนิดทางเลือกของเพศวิถี ขณะที่สิ่งสำคัญที่สุดคือการทวงถาม ถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ที่วัฒนธรรมอเมริกันยุคนั้นขาดแคลน

Howl บทกวีไร้ฉันทลักษณ์ของ Allen Ginsberg, On the Road คู่มือสำหรับฮิปปี้ ของ Jack Kerouac และ Naked Lunch นิยายดิบลือชื่อของ William S. Burroughs หนังสือเหล่านี้คือสัญลักษณ์และตำนานของโลกขบถ โดยมี City Lights Bookstore เป็นอารามหลวง ที่เหล่าสาวกกลุ่มบีท จะมารวมตัวกัน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทัศนคติ แง่มุมการมองโลกที่ฉาบฉวยและลึกซึ้ง ความเป็นตำนานของกลุ่มบีท ฉายแสงให้อารามหลวงแห่งนี้ งดงามจนยากที่จะไม่กล่าวถึง หากนึกถึงความแตกต่าง, ขบถ, อินดี้, ฮิปปี้ และบีท!

City Lights Bookstore ก่อตั้งโดย Peter D. Martin และ Lawence Ferlinghetti เมื่อปี 1953 บริเวณ Columbus Ave. เลขหมายที่ 261 สไตล์การตกแต่งสถานที่แห่งนี้ อาจไม่ได้สวยงาม เหมือนร้านหนังสือหรือร้านกาแฟรสนิยมสูงร่วมสมัยหลายแห่ง แต่จำนวนหนังสือมหาศาล ที่มีอยู่เกือบทุกซอกทุกมุม กลายเป็นเครื่องประดับ ที่ผนวกบรรยากาศความดิบและความสุขุม รวมกันไว้ได้อย่างลงตัว ขณะที่ป้ายลายมือตัวเขียนธรรมดา แต่เนื้อหาคมๆอย่าง 'Have a seat and read a book' หรือ 'Books not Bomb' ก็สามารถสร้างเอกลักษณ์และบอกตัวตนความเป็น City Lights Bookstore ได้เป็นอย่างดี


เหตุผลของการเดินทางไปแวะเวียนร้านหนังสือแห่งนี้ มีไม่มากไม่น้อย ซึ่งถึงคุณจะไม่ได้มีอารมณ์ร่วมในวาทกรรม เช่น ร่วมรักดีกว่าร่วมสงคราม, ความรักคือทุกสิ่ง หรือ ความบ้าทำให้ฉันมีเหตุผล แต่การเดินเข้าไปเยี่ยมชมสถานที่สำคัญของประวัติศาสตร์เสรีภาพในอเมริกันชน ก็คงไม่ใช่เหตุผลที่ดูไร้สาระจนเกินไป ขณะเดียวกันหากคุณเป็นผู้หนึ่งที่มีไฟขบถลุกโชนอยู่ในตัว, ชื่นชอบการอ่านหนังสือ และมักไตร่ตรองถึงคุณค่า รวมถึงความหมายของชีวิต สถานที่แห่งหนึ่งคือจุดหมายที่ไม่ใช่เพียงคุณควรไปเยือนสักครั้ง แต่ชีวิตนี้คุณ 'ต้อง' ไปให้ได้สักครั้ง

City Lights Bookstore มีวรรณกรรม, หรือหนังสือรวมบทกวีที่มีเนื้อหาพูดถึง 'ชีวิต' มากมาย เต็มแน่นทั้งสามชั้นของตึกทำการ และมีหนังสือตั้งแต่ประเภทที่ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ ไปจนถึงหนังสือจำพวกนอกกระแส หายาก ยากขนาดที่ผู้ไปเยือนบางรายนิยามว่า 'ไม่อาจซื้อหาได้จากที่ไหนในโลก'


อารามหลวงของสาวกบีท ยังเป็นสถานที่ชุมนุมของบรรดานักคิด นักเขียนจากทั่วโลก ให้มาแลกเปลี่ยนวิวาทะ, ทัศนคติ และแนวคิดของการแสวงหา โดยเชื่อกันว่า แสงสว่างจาก City Lights Bookstore จะยังคงเฉิดฉายต่อไป ตราบใดที่ความหมายของสิ่งที่เราเรียกกันว่า 'ชีวิต' ยังเป็นเพียงภาพเรือนลางที่รอคอยแสงสว่างมาปลุกการตื่นรู้ ในวันใดวันหนึ่ง





J

วันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2554

'จิตสบาย กายแจ่มใส'


การจ่ายยาจำพวกแป้ง หรือก้อนน้ำตาล อาจกลายเป็นหนึ่งในแนวทางการรักษาโรคง่ายๆจำพวกปวดหัวสำหรับโลกอนาคต เมื่อผลการศึกษาจากนักวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน พบว่า การจ่ายยาหลอกที่ไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆต่อร่างกาย (พลาเซโบ - Placebo) สามารถรักษาอาการป่วยบางประเภทได้ โดยใช้เพียงความน่าเชื่อถือ, ความสัมพันธ์ และความเชื่อใจระหว่างผู้ป่วยและคนจ่ายยา

นิตยสารอิโคโนมิสต์ เปิดเผยผลการวิจัยว่า แพทย์บางรายไม่จำเป็นต้องจ่ายยา ที่ให้ผลในเชิงเทคนิค เพียงสามารถกระตุ้นให้คนป่วยรู้สึกและเชื่อว่าเขากำลังจะหาย ก็สามารถทำให้ผู้ป่วยรายนั้นมีอาการดีขึ้น เช่นเดียวกับรายงานจากเว็บไซต์ทางการแพทย์ เว็บเอ็มดี ที่กล่าวว่า ผลกระทบของการจ่ายยาหลอกไม่เพียงสามารถรักษาอาการป่วย แต่มันยังมีผลกระทบต่อจังหวะการเต้นของหัวใจ, ความดัน, ระบบการย่อยอาหาร หรือสิ่งต่างๆภายในร่างกาย ที่เราไม่สามารถควบคุมได้

ขณะเดียวกัน รายงานที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์วารสารทางแพทย์ โปรส์ วัน อ้างว่า การฉีดยาหลอก จะให้ผลได้ดีกว่าการจ่ายยาหลอก ขณะที่การผ่าตัดหลอกจะให้ผลต่อตัวผู้ป่วยได้ดีที่สุด แต่สิ่งที่น่าประหลาดคือ ผู้ป่วยบางรายมีอาการดีขึ้น แม้แพทย์จะอธิบายว่า การเข้ารับรักษานั้นเป็นเพียงการรักษาแบบหลอก

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างตัวผู้ป่วยกับแพทย์ เป็นส่วนที่มีผลต่อการรักษาด้วยกระบวนการรักษาแบบจ่ายยาหลอกมากที่สุด โดยนายแพทย์ ชาร์ลส์ เรซัน คอลัมนิสต์ของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น กล่าวว่า อารมณ์ความรู้สึกและความเชื่อใจระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการรักษา ซึ่งสามารถสังเกตได้จากผลของการประสบความสำเร็จ ในแนวทางการรักษาแบบทางเลือก ที่ผู้ป่วยมีโอกาสพูดคุยและได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เป็นเวลานานกว่า การรักษาจากแพทย์ตามโรงพยาบาล ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันและกัน นำไปสู่การเชื่อถือ ที่ให้ผลการรักษาในทำนองเดียวกับการจ่ายยาหลอก

เทคโนโลยีที่พัฒนาในโลกปัจจุบัน เริ่มเผยให้เห็นความจริงที่น่าสนใจบางประการของชีวิต เมื่อเราสามารถพัฒนาสารเคมีที่บรรเทาอาการปวดได้อย่างชะงัก จากทุนงบประมาณการวิจัยหลายพันล้านบาท ก่อนจะมาพบว่า บางครั้ง ธรรมชาติได้มอบทางออกให้แก่มนุษย์ ใกล้ตัวและง่ายดายกว่านั้น





J

วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

วิกฤติราคาอาหารโลกในอีก 20 ปี

หลายคนบนหอคอยงาช้าง อาจไม่เชื่อว่า ในปัจจุบัน คนอินเดียต้องจ่ายค่าอาหารคิดเป็นอัตราส่วนเทียบกับรายได้ แพงกว่าคนอังกฤษถึงเกือบสองเท่า ซึ่งหากเทียบรายรับที่เท่ากัน คนอินเดียต้องจ่ายค่านม 1 ลิตร ในราคา 500 บาท และค่าข้าว 1 กิโลกรัม ในราคา 300 บาท

ประชากรชาวกัมเตมาลา กว่า 865,000 คน กำลังอยู่ในสภาพขาดแคลนอาหาร เนื่องจากการขาดการลงทุนในเกษตรกรรายย่อย จนทำให้กัวเตมาลาต้องพึ่งพิงการนำเข้าอาหารจากต่างชาติเป็นสำคัญ

กำลังการผลิตข้าวสาลีของ อาเซอร์ไบจาน ลดลงจากปีที่แล้วกว่าร้อยละ 33 เนื่องจากสภาพอากาศ ขณะที่ราคาอาหารเมื่อเดือนธันวาคมปีก่อน พุ่งสูงขึ้นกว่าร้อยละ 20 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปี 2552

ประชากรในแถบแอฟริกาตะวันออกกว่า 8 ล้านคน ขาดแคลนอาหารเนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้งมาเป็นระยะเวลานาน โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ เด็กและผู้หญิง

จากรายงานล่าสุด Growing a Better Future ของอ็อกซ์แฟม องค์กรพัฒนาเอกชนสากล กล่าวว่า ราคาต้นทุนวัตถุดิบอาหารจะพุ่งสูงเกินกว่าร้อยละ 120 ถึง 180 ในปี 2573 หรืออีกไม่ถึง 20 ปี โดยปัจจัยหลักมาจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากสภาวะโลกร้อน โดยผลการประเมินสถานการณ์ของอ็อกซ์แฟม เป็นไปในทิศทางเดียวกับ ธนาคารโลกที่ออกโรงเตือนก่อนหน้านี้ว่า ราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น ผลักให้ประชากรโลกหลายล้านคนต้องตกอยู่ในสภาพยากจนสุดขีด และมีแนวโน้มว่าตัวเลขจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

อ็อกซ์แฟม เชื่อว่า ผู้นำโลกควรหันมาเริ่มทบทวนและเปลี่ยนท่าทีดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหา ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป ทั้ง การเพิ่มระบบตรวจสอบและสร้างความโปร่งใสในตลาดซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภค, เพิ่มระดับการสำรองอาหาร, ยกเลิกมาตรการสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ รวมถึงขยายการลงทุนในกลุ่มเกษตรกรรายย่อย โดยเฉพาะผู้หญิง


อย่างไรก็ตาม จากข้อเท็จจริงที่ว่า 1 ใน 7 ของประชากรโลกกำลังประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร การฝากความหวังไปที่ผู้นำโลกให้ดำเนินมาตรการต่างๆ อาจไม่ใช่วิธีเดียวที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เพราะเราสามารถเริ่มต้นได้ง่ายกว่า ด้วยการหันกลับมาทบทวนวิถีการบริโภคของตัวเอง เช่นวัฒนธรรมบุฟเฟ่ต์ ซึ่งปล่อยให้หลายคนได้หลงใหลกับความคุ้มค่าเชิงปริมาณ และต้องตกอยู่ในสภาพ 'เกินอิ่มจนไม่อร่อย' ขณะที่เพื่อนอีกซีกโลกหนึ่ง ไม่มีแม้แต่น้ำสะอาดให้ดื่ม 








J

วันพุธที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

Oprah Winfrey, Living Our Best Life





เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา สาวก Oprahfication จำนวนกว่า 13,000 คน เดินทางเข้าร่วมชมการบันทึกเทปครั้งสุดท้าย ของเจ้าแม่วงการโทรทัศน์สหรัฐฯ โอปราห์ วินฟรีย์ บริเวณอาคารยูไนเต็ดเซ็นเตอร์ มหานครชิคาโก ท่ามกลางบรรยากาศอบอวลไปด้วยรอยยิ้ม และคราบน้ำตาของการจากลา ความสำเร็จตลอดการทำงาน 25 ปี ทำให้วันที่ 25 พฤษภาคม 2554 กลายเป็นวันที่มีความสำคัญยิ่ง เมื่อเทปสุดท้ายของรายการ ดิ โอปราห์ วินฟรีย์ โชว์ กำลังจะออกอากาศ

ดิ โอปราห์ วินฟรีย์ โชว์ ตอนสุดท้าย มีอดีตแขกรับเชิญ ซึ่งเคยร่วมพูดคุยกับเจ้าแม่ทอล์คโชว์ ทั้งบุคคลผู้มีชื่อเสียงอย่าง ไมเคิล จอร์แดน, ทอม ครูซ, อาลีธา แฟรงคลิน ไปจนถึงบรรดาศิษย์เก่าจากโรงเรียนมอร์เฮ้าส์ ที่ขึ้นมากล่าวขอบคุณโอปราห์ สำหรับทุนการศึกษา อาวุธสำคัญที่พวกเขาใช้ต่อสู้กับความยากลำบาก จนในวันนี้หลายต่อหลายคนก้าวขึ้นเป็นหมอ, ทนาย หรือเจ้าหน้าที่ในกองทัพสหรัฐฯ โดยหลังจากนี้ โอปราห์ วินฟรีย์ ประกาศจะอุทิศตนให้กับการบริหารงาน 'Own' ช่องเคเบิลของเธอ




โอปราห์ เกล วินฟรีย์ เกิดเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2497 หนึ่งในบุคคลที่ทรงอิทธิพล และมีค่าตัวสูงที่สุดในวงการโทรทัศน์สหรัฐฯ หากใครจะคิดว่า ความสำเร็จในทุกวันนี้ของเธอ โรยรายมาด้วยกลีบกุหลาบ ก็คงต้องตอบว่าไม่ใช่ โอปราห์ วินฟรีย์ เกิดในครอบครัวแอฟริกัน-อเมริกัน ที่ยากจนในมลรัฐมิสซิสซิปปี้, เธอถูกข่มขืนขณะที่มีอายุได้เพียง 9 ขวบ และท้องโดยไม่มีพ่อขณะอายุ 14 ปี ส่วนลูกของเธอก็เสียชีวิต หลังเธอคลอดได้ไม่นาน ชีวิตจริงที่ไม่ใช่ละครของเธอ อาจทำให้หลายคนสงสัยว่า 'หัวใจของโอปราห์' ทำด้วยอะไร จึงพาเธอต่อสู้มาถึงจุดที่เธอกำลังยืนอยู่ตรงนี้

โอปราห์ วินฟรีย์ เริ่มต้นทำงานในฐานะสื่อมวลชน ขณะมีอายุเพียง 19 ปี โดยเป็นผู้ประกาศข่าวที่อายุน้อยที่สุด และเป็นผู้ประกาศหญิงผิวสีคนแรกของสหรัฐฯ ส่วนความสำเร็จในมาดพิธีกรเริ่มต้นด้วยรายการ 'AM Chicago' เมื่อปี 2527 ก่อนเปลี่ยนมาเป็น 'ดิ โอปราห์ วินฟรีย์ โชว์' ในอีก 2 ปีต่อมา

โอปราห์ วินฟรีย์ เป็นแม่เหล็ก ที่ทำให้รายการ ดิ โอปราห์ วินฟรีย์ โชว์ กลายเป็นหนึ่งในรายการโทรทัศน์ที่มียอดคนดูมากที่สุดรายการหนึ่ง และส่งให้เธอกลายเป็นผู้หญิงที่ทรงอิทธิพล และร่ำรวยที่สุดในวงการโทรทัศน์สหรัฐฯ แต่ความสำเร็จต่างๆ ไม่เคยทำให้เธอลืมรากเหง้าความเจ็บปวดในอดีต เธอใช้เงินส่วนตัวเปิดโรงเรียนมูลค่ากว่า 40 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1,200 ล้านบาท เมื่อปี 2550 เพื่อช่วยเหลือเด็กผู้หญิงด้อยโอกาสในประเทศแอฟริกาใต้ เนื่องจากเล็งเห็นว่า สิ่งที่จะช่วยเหลือผู้ยากไร้ให้ต่อสู้กับปัญหาสังคมต่างๆ ไม่ใช่เงินทอง แต่เป็นการมอบโอกาสทางการศึกษา

โอปราห์ วินฟรีย์ เคยกล่าวกับเพื่อนสนิทถึงสิ่งที่ ดิ โอปราห์ วินฟรีย์ โชว์ ต้องการนำเสนอว่า 'สถานการณ์ไม่ใช่ตัวกำหนดสิ่งที่คุณเป็น ถ้าวันนี้คุณต้องเผชิญสิ่งที่เลวร้าย แต่คุณจะมีวันพรุ่งนี้ ให้เริ่มต้นใหม่เสมอ และหากคนทั้งสังคมจะปฏิเสธคุณว่า คุณไม่มีวันจะทำมันได้ แต่คนที่จะตอบคำถามเหล่านี้ มีเพียงตัวคุณคนเดียวเท่านั้น'

คำพูดเหล่านี้... ไขความลับเบื้องหลัง 'หัวใจ' ผู้หญิงแกร่งที่ชื่อ โอปราห์ วินฟรีย์ ได้เป็นอย่างดี






J

วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

มาร์เลย์ เร็กเก้ เสรีภาพ




'บ็อบ มาร์เลย์ เขียนเนื้อร้องได้ทรงพลังเหมือนบ็อบ ดีแลน, มีเสน่ห์เฉพาะตัวแบบจอห์น เลนนอน และลักษณะสไตล์การร้องโดดเด่นอย่าง สโมกกี้ โรบินสัน'
: แจนน์ เวนเนอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสาร โรลลิ่ง สโตน

'อัลบั้ม เอ็กโซดัส ของ บ็อบ มาร์เลย์ แอนด์ เดอะ เวลเลอร์ส คืออัลบั้มที่ดีที่สุด ในศตวรรษที่ 20'
: นิตยสาร ไทมส์

'บ็อบ มาร์เลย์ ไม่มีวันถูกลบออกไปจากใจพวกเรา เขาคือหนึ่งในจิตสำนึกส่วนรวมของชาวจาเมกา'
: เอ็นเวิร์ด ซีกา อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศจาเมกา




แจนน์ เวนเนอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสารคนดนตรีชื่อดังอย่าง โรลลิ่ง สโตน เคยกล่าวยกย่องบุรุษผู้หนึ่งไว้อย่างสุภาพและนับถือว่า เขาเป็นซุปเปอร์สตาร์คนแรกที่มาจากประเทศโลกที่ 3 และเป็นผู้แนะนำโลกให้รู้จักกับพลังอันลี้ลับของบทเพลงแนวเร็กเก้ รวมถึงมีเอกลักษณ์ที่เป็นส่วนผสมของการเขียนเนื้อร้องทรงพลังอย่างบ็อบ ดีแลน, เสน่ห์เฉพาะตัวแบบจอห์น เลนนอน และสไตล์การร้องที่โดดเด่นเหมือน สโมกกี้ โรบินสัน เขาผู้นั้นมีนามว่า 'บ็อบ มาร์เลย์'

บ็อบ มาร์เลย์ บุรุษที่มาพร้อมสัญลักษณ์สีเหลือง เขียว แดง และดนตรีแนวเร็กเก้ จากประเทศจาเมกา ขณะที่หากจะหานักดนตรีเพื่อชีวิตที่ยิ่งใหญ่สักคนหนึ่ง บ็อบ มาร์เลย์ ต้องเป็นหนึ่งในรายชื่อเหล่านั้น อย่างไม่ต้องสงสัย

บ็อบ มาร์เลย์ เกิดเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ปี 2488 และเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ในวัยเพียง 36 ปี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ปี 2524 บทเพลงทรงคุณค่าที่บ็อบ มาร์เลย์ รังสรรค์ทั้งในนามของตัวเอง และวงดนตรี บ็อบ มาร์เลย์ แอนด์ เดอะ เวลเลอร์ส ได้รับการยกย่องอย่างสูง ทั้งในแง่ของการเป็นผู้เปิดศักราชใหม่ให้กับเร็กเก้และสกา รวมถึงในแง่ของความหมายนัยยะทางสังคมที่ลึกซึ้ง

อัลบั้ม เอ็กโซดัส ของ บ็อบ มาร์เลย์ แอนด์ เดอะ เวลเลอร์ส ได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทมส์ ให้เป็นอัลบั้มที่ดีที่สุด ในศตวรรษที่ 20 ขณะที่ 'เลเจนด์' อัลบั้มรวมเพลงของบ็อบ มาร์เลย์ ซึ่งวางขายหลังเขาเสียชีวิตได้ 3 ปี ทำสถิติเป็นอัลบั้มเร็กเก้ที่ขายดีที่สุดตลอดกาล โดยมียอดจำหน่ายไม่ต่ำกว่า 25 ล้านแผ่นทั่วโลก

ในด้านของเนื้อร้องบ็อบ มาร์เลย์ ได้รับการยกย่องว่า เป็นหนึ่งในผู้ที่ใช้ภาษาแต่งเพลงได้อย่างทรงพลัง ซึ่งเนื้อร้องในบทเพลงของบ็อบ มาร์เลย์ มักจะมี 'ราก' มาจากสภาพสังคมจาเมกา บ้านเกิด โดยเฉพาะเรื่องของการเมืองและวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม บทเพลงบ็อบ มาร์เลย์ มีลักษณะนุ่มนวลกว่าบทเพลงเพื่อชีวิตที่ร่วมสมัยทั้งในขณะนั้นและในขณะนี้ ขณะที่เนื้อร้องก็ค่อนข้างสุภาพ ไม่เกรี้ยวกราด แต่จะมีนัยยะ แฝงทัศนะทางสังคม และการมองโลกไว้อย่างลึกซึ้ง

บ็อบ มาร์เลย์ ใช้ดนตรีและบทเพลง เป็นอาวุธในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพของคนผิวสี ท่ามกลางกระแสความแตกแยกเรื่องสีผิว หลังเหตุจราจลและการปะทะกันระหว่างกลุ่มคนผิวขาวและผิวสี ในประเทศจาเมกา เมื่อปี 2508 ขณะที่บทเพลงจำนวนมากของบ็อบ มาร์เลย์ ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการแสดงออกถึงปัญหาสังคม โดยกลุ่มรณรงค์ต่อต้านการเหยียดผิว และขบวนการคนผิวดำ เช่นเพลง I shot the Sheriff

การก้าวขึ้นเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ ในบริบทสังคมที่เปราะบาง ทำให้ความเสี่ยงจะถูกหมายปองเอาชีวิตเพิ่มสูงขึ้น โดยเมื่อปี 2519 เขาและเพื่อนร่วมวง ถูกลอบยิง ก่อนขึ้นแสดงคอนเสิร์ต 'สไมล์ จาเมกา' ฟรีคอนเสิร์ตที่มีวัตถุประสงค์ ผ่อนคลายความตึงเครียดทางการเมืองของสังคมจาเมกา

บ็อบ มาร์เลย์ ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย และตัดสินใจขึ้นแสดงคอนเสิร์ต ในอีก 2 วันต่อมา แม้ว่าภรรยาและเพื่อนร่วมวงคนหนึ่งจะได้รับบาดเจ็บสาหัส โดยเขาได้กล่าวถึงเหตุผลว่า 'บรรดาผู้คนที่พยายามหาทางทำให้โลกนี้เลวร้ายลง ต่างไม่เคยคิดจะหยุดพัก แล้วตัวเขาเองจะมามัวหยุดพักได้อย่างไร' คำตอบนี้ กลายมาเป็นหนึ่งใน 'วลีสันติภาพ' ภายใต้ความทรงจำของใครหลายคน ขณะที่สาวกอีกหลายต่อหลายคนกล่าวว่า แม้ร่างกายของบ็อบ มาร์เลย์จะร่วงโรยไป แต่หาใช่จิตวิญญาณจะร่วงโรยตาม และหากโลกจะเลวร้ายอย่างไร แต่ everything is gonna be alright...






J

วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การปิด และเปิด 'เกมส์ล้างแค้น'




ประธานาธิบดีบารัก โอบาม่า ออกแถลงการณ์ยืนยัน เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ว่า กองทัพสหรัฐฯ สามารถบุกเข้าโจมตีฐานที่มั่นของกลุ่มอัล กออิดะห์ ในประเทศปากีสถาน และภายหลังจากการนำดีเอ็นเอของร่างชายต้องสงสัย ไปตรวจกับน้องสาวของอุซามะห์ บิน ลาดิน ก็พบว่า หนึ่งในผู้เสียชีวิต คือหัวหน้ากลุ่มผู้ก่อการร้าย อัลกออิดะห์ หรือ อุซามะห์ บิน ลาดิน

หลังจากที่ทราบข่าว ประชาชนชาวสหรัฐฯจำนวนมาก ออกมาร่วมเฉลิมฉลองแสดงความยินดีกันในหลายพื้นที่ ทั้งในกรุงวอชิงตัน ดีซี หรือกลางมหานครนิวยอร์ค เช่นเดียวกับ ผู้นำชาติต่างๆ ทั้งผู้นำอัฟกานิสถานที่ออกมาแสดงความเห็นว่า การตายของบิน ลาดิน คือหนึ่งในเหตุการณ์ที่มีความสำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งของโลก ส่วนรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศส กล่าวแสดงความยินดี และเชื่อว่า สถานภาพทางการเมืองของอัฟกานิสถาน จะดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ชายที่คนจำนวนกว่าครึ่งโลกรู้สึกโล่งใจ เมื่อได้ยินข่าวการตาย เกิดเมื่อปี 2500 โดยไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าบุตรชายของเศรษฐีนักธุรกิจชาวซาอุฯ เปลี่ยนไปเข้าพวกกับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงได้อย่างไร แต่มีหลักฐานที่ค่อนข้างเชื่อถือได้ว่า บิน ลาดิน เป็นผู้ที่ช่วยระดมทุน และหาช่องทางให้อาสมัครชาวมุสลิม ได้เข้าร่วมการรบในฐานะนักรบศาสนา มุญาฮิดีน ระหว่างการรุกรานประเทศอัฟกานิสถานของโซเวียต เมื่อปี 2522

ขณะที่ความชิงชังสหรัฐฯ เชื่อกันว่าเริ่มต้นขึ้นระหว่างวิกฤติการณ์อ่าวเปอร์เซีย เมื่อปี 2533 - 2534 หลังสหรัฐฯ ดำเนินการตั้งฐานทัพในประเทศซาอุดิอาระเบีย เพื่อตอบโต้กองทัพอิรักที่พยายามบุกเข้ายึดครองคูเวต โดยบิน ลาดิน รู้สึกว่าการกระทำของสหรัฐฯ เป็นเสมือนการรุกรานดินแดนอาหรับของชาวตะวันตก เขาจึงเริ่มต้นคิดหาหนทาง 'แก้แค้น'

บิน ลาดิน ถูกทางการสหรัฐฯเชื่อมโยงกับกลุ่มอัล กออิดะห์ ครั้งแรก จากเหตุการณ์วางระเบิดตึกเวิร์ดเทรด เซนเตอร์ ในสหรัฐฯ เมื่อปี 2536 ซึ่งหลังจากนั้น เหตุการณ์วินาศกรรมครั้งใหญ่ ทั้งในและนอกสหรัฐฯ ที่มีเหยื่อเป็นชาวอเมริกัน มักถูกนำไปเชื่อมโยงกับตัว อุซามะห์ บิน ลาดิน

เขาได้รับการยอมรับอย่างสูงในฐานะของจอมวางแผน โดยเฉพาะเหตุการณ์ช็อกโลกอย่าง 9/11 ที่มีผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินก่อนนำพุ่งชนตึกเวิร์ดเทรด เซนเตอร์ และอาคารเพนตากอน ของสหรัฐฯ จนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนสูงถึง 3,000 ราย เมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี 2544

เหตุการณ์ 9/11 ตามมาด้วยการ 'ล้างแค้น' ครั้งใหญ่ของกองทัพสหรัฐฯ ในการบุกเข้าปราบปรามกองกำลังตาลีบัน ในประเทศอัฟกานิสถาน ซึ่งสุดท้ายแม้ ตาลีบันจะพ่ายแพ้อย่างราบคาบ แต่สหรัฐฯ ก็ยังไม่สามารถจับกุมตัว อุซามะห์ บิน ลาดิน ที่หนีหายไปอย่างไร้ร่องรอยได้ จนกระทั่งวันที่ 1 พฤษภาคม 2554 โลกก็ได้ยินข่าวว่า แผนการตามล่าที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลากว่า 18 ปี สัมฤทธิ์ผล

การตายของอุซามะห์ บิน ลาดิน อาจนำไปสู่จุดจบของการก่อการร้าย ได้เช่นเดียวกับการเป็นบทโหมโรงให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของพลเรือนมากขึ้น โดยประธานาธิบดีบารัก โอบาม่า ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ในแถลงการณ์ยืนยันการเสียชีวิตของบิน ลาดินว่า ประชาชนชาวอเมริกัน อาจจำเป็นต้องเตรียมรับมือกับภัยก่อการร้ายเพิ่มมากขึ้น แม้กลุ่มอัล กออิดะห์ จะสูญเสียผู้นำของตนไปแล้วก็ตาม


ซึ่งหากการตายของอุซามะห์ บิน ลาดิน คือสิ่งที่คนกว่าครึ่งโลกต้องการ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากไฟแค้นที่ต่างฝ่ายต่างกระพือ อาจทำให้ไม่มีใคร ได้ลิ้มรสชัยชนะในสงครามครั้งนี้





J

วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เทพนิยาย





ซินเดอเรลล่า เรื่องราวของสาวสามัญชน ที่ 'ความรัก' ได้ปัดเป่าเคราะห์ร้ายต่างๆ ที่เธอต้องเผชิญ // เทพนิยายสุดโรแมนติกเรื่องนี้ ได้รับความนิยมอย่างสูง และตัวซินเดอเรลล่า ก็ได้รับการยอมรับอย่างไม่เป็นทางการว่า เป็นสัญลักษณ์ของสามัญชน ที่ความรักชักพาเธอให้กลายเป็นเจ้าหญิง วันนี้ เรามีเรื่องราวความรักของเจ้าชาย กับซินเดอเรลล่าในโลกแห่งความเป็นจริง ที่ฐานันดรศักดิ์ ไม่อาจเป็นอุปสรรค มาให้คุณผู้ชมได้ชมกัน


วอลลิส ซิมป์สัน สาวสังคมชั้นสูงชาวอเมริกัน แม้พระองค์จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เกี่ยวกับเรื่องของความเหมาะสม หลังทรงเคยมีประวัติหย่าร้างมาแล้วถึง 2 ครั้ง แต่เรื่องราวในอดีต ก็ไม่สามารถทำให้กษัตริย์ เอ็ดเวิร์ด ที่ 8 ของอังกฤษ เปลี่ยนพระทัยได้ หนำซ้ำหลังถูกหลายฝ่ายกดดัน พระองค์ทรงตัดสินพระทัยที่จะสละราชสมบัติ เพื่อให้ได้ครองรักกับวอลลิส ซึ่งต่อมาทั้งสองได้ดำรงพระยศเป็น ดยุค และดัชเชสส์ แห่งวินด์เซอร์


เกรซ เคลลี ดาราสาวเจ้าบทบาทแห่งโลกฮอลลีวู้ด ที่ก้าวขึ้นเป็น เจ้าหญิงเกรซ เคลลี แห่งโมนาโก หลังทรงพบรักกับเจ้าชายเรนีเยที่ 3 แห่งโมนาโก พระองค์ทรงเป็นผู้นำฝ่ายสตรีของประเทศ ขณะที่ความรักของพระองค์ กับเจ้าชายเรนีเย ที่ 3 ถือเป็นหนึ่งในเรื่องราวสุดโรแมนติก ที่ประทับใจหญิงสาวทั่วโลกมากมาย


ซอนย่า ฮารัลด์เซน ความรักของพระองค์ กับองค์มกุฏราชกุมารแห่งนอร์เวย์ ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และถูกคัดค้านมากมาย แต่สุดท้าย 'เวลา' ได้เป็นเครื่องพิสูจน์ จนทั้งสองทรงสามารถฟันฝ่าอุปสรรค และได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีฮารัลด์ ที่ 5 และสมเด็จพระราชินีซอนย่า กษัตริย์และราชินีแห่งประเทศนอร์เวย์


มิชิโกะ โชดะ ทรงเป็นสามัญชนคนแรกในประวัติศาสตร์ ที่อภิเษกกับราชวงศ์ญี่ปุ่น พระองค์ทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับมกุฏราชกุมาร อะกิฮิโตะ แห่งญี่ปุ่น เมื่อปี 2502 ก่อนทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระจักรพรรดินี มิชิโกะ แห่งญี่ปุ่น ในปี 2533 หลังสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ เข้าพระราชพิธีอภิเษกเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ


ซิลเวีย ซอมเมอร์ลาธ หญิงสามัญชนเชื้อสายเยอรมัน ทรงพบรักกับเจ้าฟ้าชายคาร์ล กุสตาฟ มกุฏราชกุมาร แห่งสวีเดน ในระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เมื่อปี 2515 และทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน ภายหลังจากที่เจ้าฟ้าชาย เสด็จขึ้นครองราชย์ ในปี 2516


เมทเทอ-มาริต ชีเซิม เฮออิบี ทรงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทั้งทรงเป็นแม่หม้ายลูกติด รวมถึงข่าวลือ เช่น ปัญหายาเสพติด และการเป็นอดีตนักเต้น อย่างไรก็ตาม เจ้าฟ้าชายโฮกุน มกุฏราชกุมารแห่งนอร์เวย์ ทรงไม่สนพระทัย และทรงเข้าพิธีอภิเสกสมรสกัน เมื่อปี 2544 โดยทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น เจ้าฟ้าหญิงเมทเทอ-มาริต มกุฏราชกุมารีแห่งนอร์เวย์


ซัลมา เบนนานี หรือเจ้าหญิงลัลลา ซัลมา แห่งโมร็อกโก ทรงเป็นเจ้าหญิงพระวรราชชายาพระองค์แรก ในสมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 แห่งโมร็อกโก กษัตริย์องค์ปัจจุบัน โดยเจ้าหญิงลัลลา ซัลมา ทรงเป็นพระวรราชชายาในสมเด็จพระราชาธิบดี พระองค์แรกในประวัติศาสตร์โมร็อกโก ที่ได้รับพระราชทานอิสริยยศ และทรงมีสิทธิ์ประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆอย่างเป็นทางการ


การแต่งงาน เป็นตอนจบของเทพนิยายซินเดอเรลล่า ขณะที่ในโลกแห่งความเป็นจริง พิธีเสกสมรส เป็นเพียง 'ตอนหนึ่ง' ของบทละครแห่งชีวิตเท่านั้น โดยยังทิ้งคำตอบของตอนจบ เทพนิยายชีวิตจริงสุดโรแมนติก ให้เจ้าชายและเจ้าหญิง ได้ทรงเสกสรรและปรุงแต่งต่อไปว่า จะสวยสด และงดงามเช่นไร





J

วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2554

ไอน์สไตน์ ยังไม่ตาย

My Brainstorm

คำพูดประโยคที่ว่า 'จินตนาการสำคัญกว่าความรู้' กลายเป็นประโยคคลาสสิค ที่ทำลายกำแพง ซึ่งขวางกั้นวิทยาศาสตร์ และศิลปศาสตร์ ออกจากกัน ไม่น่าเชื่อว่าประโยคที่มีลักษณะปรัชญาศิลปะ กลับหลุดออกมาจากปากของนักวิทยาศาสตร์ผู้หนึ่ง

ผู้ได้ชื่อว่าโด่งดังที่สุด ความน่าสนใจของผู้กล่าวประโยคนี้ อย่างอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

จนเกิดเป็นความรู้ ความเชื่อ ค่านิยม รูปแบบใหม่
มีผลงานทางวิทยาศาสตร์กว่า 300 ชิ้น และงานประเภทอื่นๆ ที่ได้รับการยอมรับอีกมากกว่า 150 ชิ้น

นำคำว่า ความฉลาด หรืออัจฉริยะ ไปจดทะเบียนเตรื่องหมายการค้า ในนาม

ชื่อของเขา

และมีคนนำชื่อของเขา ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ที่แปลว่า ความฉลาด หรืออัจฉริยะ
รวมถึงเป็นผู้ที่กล่าวประโยคคลาสสิคอย่าง 'จินตนาการสำคัญหว่าความรู้'

ชาย ที่ชื่อถูกจดลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้า นิยามว่า 'ความฉลาดหรืออัจฉริยะ' ทีมข่าว วอยส์ โฟกัส จึงขอนำคุณผู้ชมไปทำ

ต่อมา ปี 2551 ไอน์สไตน์

ทฤษฏี ที่ทำให้ใครหลายคนจดจำอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ได้ คือทฤษฏีสัมพันธภาพ ซึ่งได้รับการเปิดเผยเมื่อปี 2458 ขณะที่

ความสนใจในวิชาคณิตศาสตร์ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ สนใจคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ เริ่มต้นขึ้นเมื่อเขาอายุได้ 5 ปี โดยพ่อของเขาได้นำเข็มทิศมาให้เล่น ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้แก่เด็กชายไอน์สไตน์เป็นอย่างมากว่า ทำไมเข็มทิศจึงต้องหันไปทางทิศเหนือ และนับตั้งแต่นั้นมา เขาก็มุ่งมั่นศึกษามันเรื่อยมา

ทฤษฏีสัมพันธภาพ เป็น

จนกระทั่ง ไอน์สไตน์อายุได้ 29 ปี เขาก็ได้เริ่มทำงานเป็นอาจารย์สมใจ โดยเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยเบิร์น ก่อนย้ายไปที่ซูริกในปีต่อมา และได้เปลี่ยนไปทำการสอนในสถาบันการศึกษาอีกหลายแห่ง ทั้งในและนอกสวิตเซอร์แลนด์

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย โดยมีวิชาเอกคือวิชาฟิสิกส์ เมื่อปี 2443 และได้รับสิทธิ์เป็นพลเมืองสวิสในปี 2444 หลังจากอพยพย้ายตามครอบครัวมาตั้งแต่ปี 2438


;p


หลังจากพยายามมาอยู่นานแสนนาน ในที่สุดก็เขียนออกมาได้...




ไอน์สไตน์ ยังไม่ตาย

CG1 ประเด็น: ไอน์สไตน์ ยังไม่ตาย
Anchor-ผู้ประกาศ
หากกล่าวถึงคำว่า 'อัจฉริยะ' หลายคนต้องนึกถึงชื่อ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เป็นลำดับแรกๆ วันที่ 18 เมษายน เป็นวันครบรอบการเสียชีวิตของเขา วอยส์ โฟกัสจึงขอนำท่านไปรู้จักกับบุคคลที่ได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทมส์ ให้เป็น 'บุคคลแห่งศตวรรษ' คนนี้

เทป
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เกิดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ปี 2422 ในเมืองวืร์ตแตมแบร์ก ประเทศเยอรมนี วัยเด็ก ไอน์สไตน์ต้องเผชิญปัญหา ความพิการทางการอ่านหรือเขียน เนื่องจากโครงสร้างสมองที่ไม่ปกติ ความผิดปกติทางร่างกาย ทำให้เขาเป็นหนึ่งในนักเรียนที่ถูกมองว่าเป็นพวกเรียนรู้ช้า แต่ความเชื่องช้ากว่าเด็กคนอื่นๆ กลับทำให้ไอน์สไตน์รู้สึกว่า เขามีเวลาครุ่นคิดถึงอวกาศและเวลามากขึ้น จนนำไปสู่การพัฒนาทฤษฏีเหล่านั้น ในเวลาต่อมา

ไอน์สไตน์เริ่มศึกษาวิชาคณิตศาสตร์ เมื่ออายุได้ 12 ปี โดยมีลุงเป็นผู้ให้คำแนะนำ จนกระทั่งอายุได้ 16 ปี เขาก็สามารถเรียนรู้หลักการทางคณิตศาสตร์ขั้นสูงได้หลายอย่าง รวมถึงหลักการทางฟิสิกส์อีกมากมาย

ไอน์สไตน์เคยต้องตกงานถึงเกือบ 2 ปี หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัย ก่อนได้โอกาสเข้าทำงานในสำนักงานสิทธิบัตรของกรุงเบิร์น ช่วงเวลานี้ เขามีโอกาสร่วมกลุ่มชมรมกับเพื่อน เพื่อพูดคุยปรึกษา เกี่ยวกับเรื่องวิทยาศาสตร์ รวมถึงหนังสือและงานเขียนต่างๆ ซึ่งสุดท้าย ได้ส่งอิทธิพลต่อแนวคิดด้านวิทยาศาสตร์และปรัชญาต่อตัวไอน์สไตน์มากมาย

ปี 2448 ถือเป็นปีแห่งการเริ่มต้นความสำเร็จของไอน์สไตน์ โดยบทความทางวิทยาศาสตร์ของเขาได้ถูกนำไปตีพิมพ์ผ่านทางวารสารวิชาการทางวิทยาศาสตร์ และถือเป็นการค้นพบทฤษฏีที่ยิ่งใหญ่ถึง 3 ทฤษฏี คือ ทฤษฎีปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กตริก, ทฤษฎีการเคลื่อนที่แบบบราวเนียน และทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงกระบวนการคิด ความเชื่อทั้งในเรื่องพื้นที่, เวลา และสสาร ของโลกวิทยาศาสตร์สมัยก่อน

ไอน์สไตน์ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาฟิสิกส์ เมื่อปี 2464 จากคำอธิบายปรากฏการณ์โฟโต้อิเล็กทริก ต่อมาในปี 2476 เขาหลบหนีออกจากเยอรมนี และขอยกเลิกสัญชาติเยอรมัน ด้วยเหตุผลทางการเมือง ก่อนบินไปทำงานเป็นศาสตราจารย์สาขาฟิสิกส์ ให้กับมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ในสหรัฐอเมริกา หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไอน์สไตน์เป็นหนึ่งในผู้นำการรณรงค์ต่อต้านการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ อาวุธที่ถูกพัฒนามาจากสมการ e=mc2 หนึ่งในผลลัพธ์สำคัญของทฤษฏีสัมพันธภาพพิเศษของเขา

ไอน์สไตน์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 เมษายน ปี 2498 ด้วยโรคหัวใจ ทิ้งไว้แต่เพียงผลงาน ที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์ของโลกมากมาย ซึ่งยังไม่รวมถึงอิทธิพลต่อแนวความคิดในการใช้ชีวิตทั่วไป เช่นความเรียบง่าย หรือวาทะอย่าง 'จินตนาการสำคัญกว่าความรู้' ที่ทำลายขอบกั้นโลกวิทยาศาสตร์กับศิลปะลงอย่างราบคาบ

ไอน์สไตน์จากโลกไปแล้ว 56 ปี แต่ทฤษฏีแนวคิดทั้งศาสตร์และศิลป์ ยังเป็นต้นแบบที่คนจำนวนมากทั้งในและนอกวงการวิทยาศาสตร์ยังนับถือ และระลึกถึงอยู่เสมอ




อาจจะไม่เกี่ยวกับบทความโดยตรง... แต่สนุกดี...





J

วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2554

'Martin Luther King Jr.' คนดีไม่สมบูรณ์แบบ

'I have a dream that my four children will one day live in the nation where they will not be judged by the color of their skin but by the content of their character ' : Martin Luther King Jr.

'ข้าพเจ้ามีความฝันว่า ในวันหนึ่ง ลูกๆทั้ง 4 คนของข้าพเจ้าจะสามารถยืนอยู่บนแผ่นดินนี้ โดยไม่มีใครตัดสินพวกเขา ด้วยเนื้อสีของผิว หากแต่ด้วยเนื้อหนังแห่งลักษณะนิสัย ' : มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์




มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เป็นที่จดจำของคนทั้งโลก โดยเฉพาะในฐานะนักต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชนของคนผิวดำในประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยสันติวิธี ตามแบบอย่างของมหาตมะ คานธี และแม้เขาจะเคยถูกต้องโทษจำคุกมาหลายครั้ง แต่ใช่ว่า 'เสียง' ของเขาจะไม่เคยมีใครสนใจหรือได้ยิน

คิง ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในผู้ที่มีความสามารถทางด้านการพูดมากที่สุดคนหนึ่ง โดยมีคำกล่าวสุนทรพจน์ชิ้นที่ยังถูกกล่าวถึง และเป็นที่จดจำจวบจนทุกวันนี้ คือ 'I have a dream' หรือ 'ข้าพเจ้ามีความฝัน' กล่าวระหว่างการชุมนุมเรียกร้องสิทธิคนผิวดำในปี 2506 กลางกรุงวอชิงตัน ดีซี มีผู้เข้าร่วมฟังกว่า 200,000 คน



ข้อเรียกร้องของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง ได้รับการยอมรับในปี 2507 ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ยอมออกกฏหมายให้ สิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคนเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการแบ่งแยกสีผิว และมาร์ติน ลูเธอร์ คิง ในวัย 35 ปี ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ซึ่งถือเป็นบุคคลที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัลนี้

มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ถูกลอบยิงจนถึงแก่ชีวิตในปี 2511 และกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมทางเชื้อชาติมาจนถึงทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม เป็นเวลาร่วมปีแล้ว ที่กลุ่มชุมชนผิวขาวนิยม เปิดเผยรายงานโจมตีคิง ว่า เป็นพวกขี้เหล้า และมีชู้ ซึ่งทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนหลายฝ่ายต้องประหลาดใจ และเสียความรู้สึก

จนกระทั่งวันครบรอบ 43 ปี การจากไปของเขา เมื่อวานนี้ หนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสท์ ได้เผยแพร่บทความของ Hampton Sides ที่พยายามกล่าวถึงแง่มุมอีกด้านหนึ่ง โดยนำเสนอบทวิเคราะห์ผสมบทสัมภาษณ์อดีตชู้รักของคิง ว่า มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ก็เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่ง ที่มีความผิดพลาด, มีจุดอ่อน, มีความหิวกระหาย และมีความตึงเครียด เฉกเช่นเดียวกับมนุษย์ธรรมดาทั่วไป แต่ข้อบกพร่องเหล่านั้น ไม่ได้มีค่ามากไปกว่าสิ่งที่เขาได้สร้างไว้ให้แก่โลกใบนี้

ความสำคัญของเรื่องนี้อาจเหมือนกับที่ Cord Jefferson บรรณาธิการวัฒนธรรมเว็บไซต์ good.is กล่าวไว้ว่า บุคคลที่ยิ่งใหญ่ไม่ได้มีความหมายว่าต้องสมบูรณ์แบบ เพราะทั้งโทมัส เจฟเฟอร์สัน ยอมรับระบบทาส หรือจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ก็มีชู้รักมากมาย

Cord Jefferson จบบทความโดยอ้างอิงจากคำพูดของ Hampton Sides ไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า

'By calling our heroes superhuman we also let ourselves off the hook: Why do the hard work of bettering the world if that’s something only saints do?'

'เรียกวีรบุรุษของเรา ว่ายอดมนุษย์ เท่ากับการปัดตัวเราเอง จากความรับผิดชอบต่อบางสิ่งบางอย่าง เพราะเราจะต้องพยายามทำโลกนี้ให้งดงามขึ้นทำไม ในเมื่อมีกลุ่มนักบุญ ที่ปราศจากความชั่วร้ายเท่านั้นที่ทำได้ '

หรือความเป็นจริง เราอาจสามารถปรุงแต่งโลกนี้ให้ดีขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่สมบูรณ์แบบเสมอไป





J

วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554

จัดเรตติ้งไทย จัดระเบียบเสรีภาพ




การจัดเรตติ้งภาพยนตร์ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในสังคมโลกตะวันตก มีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือการกำหนดจำแนกความเหมาะสมสำหรับผู้ชม ทั้งในแง่ของเพศสถานะ, ความรุนแรง หรือการใช้ยาเสพติด รวมไปถึงลักษณะเนื้อหาภาพยนตร์บางเรื่อง ที่เป็นลักษณะเฉพาะสำหรับ 'วัยผู้ใหญ่' เพื่อช่วยเหลือคุ้มครองเด็กและเยาวชน ​ไม่​ให้​ต้อง​เผชิญ​กับ​สิ่ง​ไม่​เหมาะสมที่ถูกสังคมนำ​เสนอ ทั้งนี้ ในสังคมของประเทศที่ใช้ระบบเรตติ้งเอง ก็มักมีความแตกต่างกันในด้านของน้ำหนักว่าสิ่งไหนควรหรือไม่ควร เช่นที่สหรัฐฯ ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเพศ มักถูกกำหนดให้มีระดับเรตติ้งที่ค่อนข้างสูงกว่า ระดับความเข้มข้นเดียวกันของภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเรื่องความรุนแรง ขณะที่ในเยอรมนี ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาหรือภาพที่รุนแรง มักถูกเลื่อนระดับให้มีเรตติ้งที่สูงกว่า

การจัดเรตติ้ง มีความสำคัญเป็นอย่างมาก สำหรับเด็กและเยาวชน โดยจากผลการวิจัยของนักมานุษยวิทยาพบว่า

เด็กเล็กอายุ 3-5 ปี จะแยกแยะบทบาทจริงและบทบาทสมมติไม่ได้
เด็กอายุ 6-12 ปี จะแยกบทบาทจริงและบทบาทสมมติได้ไม่ดี
เด็กอายุ 13-18 ปี เป็นวัยที่กำลังหาแบบอย่างให้แก่ตัวเอง
เด็กวัย 18 ปี ขึ้นไป เริ่มมีความคิดความอ่านแบบผู้ใหญ่

การจัดเรตติ้ง จึงเป็นเสมือนกำแพงป้องกันสิ่งแปลกปลอม ก่อนถึงวัยที่เด็ก จะสามารถแยกแยะสิ่งต่างๆได้

ในสหรัฐอเมริกา เริ่มมีการใช้ระบบเรตติ้งตั้งแต่ปี 2511 เพื่อให้คำแนะนำกับผู้ปกครองสำหรับภาพยนตร์ เรื่องที่เด็กและเยาวชนควรและไม่ควรดู แบ่งเป็น

G สำหรับทุกเพศทุกวัย
PG สำหรับทุกเพศทุกวัย แต่เด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปี ควรอยู่ในการแนะนำของผู้ปกครอง
PG-13 เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี ควรอยู่ในการแนะนำของผู้ปกครอง
R เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี ต้องเข้าชมพร้อมกับผู้ปกครองที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป
NC-17 เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ห้ามดู

ทั้งนี้ การจัดเรตติ้งของสหรัฐฯ ไม่ใช่มาตรการบังคับที่ถูกตราเป็นกฎหมาย ดังนั้น ระบบเรตติ้งจึงมีคุณค่าเสมือนคำแนะนำสำหรับเลือก 'สาร' ให้แก่เด็กและเยาวชน โดยไม่ได้มีความหมายใดๆเลยกับบุคคล ที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป ซึ่งถูกมองว่าบรรลุนิติภาวะแล้ว

ส่วนที่เยอรมนี ใช้ระบบเรตติ้ง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันเด็ก และเยาวชนจากสื่อที่มีเนื้อหาสุ่มเสี่ยง โดยมีสถาบันจัดเรตติ้งชื่อว่า FSK แต่ไม่ได้มีกฎหมายให้ผู้ผลิตต้องส่งตรวจสอบ เป็นเพียงความสมัครใจของสื่อหรือภาพยนตร์ใด ที่ต้องการแสดงต่อสาธารณชนว่า เยาวชนสามารถเข้าถึงผลงานของตนได้ ซึ่งสื่อที่มีเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่ชัดเจน จะถูกห้ามไม่ให้ยื่นขอพิจารณาจัดเรตติ้งสำหรับเยาวชน

FSK 0 สำหรับทุกเพศทุกวัย
FSK 6 สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปี ขึ้นไป
FSK 12 สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปี ขึ้นไป
FSK 16 สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 16 ปี ขึ้นไป
FSK 18 เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ห้ามดู

ทั้งนี้ การกำหนดมอบเรตติ้งต่างๆให้แก่ภาพยนตร์แต่ละเรื่อง จะมีข้อกำหนดที่มีลักษณะเป็นรูปธรรมในการใช้อธิบายการตัดสินมากมาย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้ง 2 ประเทศ แม้รายละเอียดบางส่วนจะแตกต่างกันเล็กน้อย แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ จุดมุ่งหมายของการจัดเรตนั้น ทำไปเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชน เท่านั้น ไม่มีข้อกำหนดหรือคำแนะนำไหน ที่ออกมาใช้ควบคุมคนดูกลุ่มที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ เช่นการประกาศห้ามฉาย

ในส่วนของประเทศไทย พึ่งมีการเปลี่ยนแปลงหันมาใช้ระบบเรตติ้ง แทนระบบเซนเซอร์ เมื่อราวปี 2552 หลังความพยายามต่อสู้กันมาอย่างยาวนานของคนทำหนัง โดยเริ่มปะทุเป็นกระแสสังคม หลังภาพยนตร์เรื่องแสงศตวรรษ ของ เจ้ย, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ถูกตัดเนื้อหาบางส่วนที่เจ้าหน้าที่กองเซนเซอร์มองว่าไม่เหมาะสมต่อสังคมไทย ซึ่งเมื่อตัวเจ้าของผลงานไม่ยอมรับคำตัดสิน นำไปสู่การลุกขึ้นสู้ ให้ได้มาซึ่งสิทธิและเสรีภาพของคนทำหนัง ซึ่งอาจอ้างอิงไปถึงคนดูหนังด้วยเช่นกัน

ปัจจุบัน ประเทศไทยหันมาใช้ระบบเรตติ้ง โดยแบ่งเป็น 7 เรต คือ

ส ส่งเสริมการเรียนรู้ และส่งเริมการดู
ท เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไป
น 13+ เหมาะสมกับผู้ที่อายุมากกว่า 13 ปี ขึ้นไป
น 15+ เหมาะสมกับผู้ที่มีอายุมากกว่า 15 ปี ขึ้นไป
น 18+ เหมาะสมกับผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปี ขึ้นไป
ฉ 20+ เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามดู ยกเว้นผู้บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส
ห ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักรไทย

แต่เหมือนนั่งพายเรื่ออยู่ภายในอ่าง เมื่อปัญหาและข้อถกเถียงถึงตัวกฎหมายการจัดเรตติ้ง ยังคงเป็นที่ถกเถียง โดยเฉพาะเมื่อเกิดการจัดเรต ห ให้กับภาพยนตร์เรื่อง Insect in the Backyard คำถามหาเหตุผล ของการกระทำดังกล่าว 'อย่างเป็นรูปธรรม' จึงเกิดขึ้น ทำให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นาย นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ต้องเขียนจดหมายชี้แจงต่อสังคมว่า

'ภาพยนตร์จะได้ฉายหรือไม่ เป็นปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้น และดำรงอยู่ในสังคมต่อไป และเรื่องเช่นนี้ก็เคยเกิดขึ้นเป็นประจำในอดีต ปัญหาที่ซ่อนอยู่และน่าเป็นห่วงในความเห็นของผู้เขียนคือ การที่เราไม่กล้าวินิจฉัยว่า สิ่งไหน 'ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน' โดยให้เหตุผลว่า 'ศีลธรรมอันดีของประชาชน' กว้างเกินไปจนไม่สามารถหาบรรทัดฐานมาตรวจวัดได้ เลยไม่กล้าวางบรรทัดฐานทางศีลธรรม'

'สังคมไทยอยู่ในสภาพเช่นนี้ เพราะผู้ที่กฎหมายให้อำนาจวางบรรทัดฐานของสังคมไม่กล้าวางบรรทัดฐาน โดยกลัวจะถูกตำหนิต่อว่าจากสังคม คนหกสิบกว่าล้านคนจึงมาตรฐานหกสิบล้านมาตรฐาน สังคมจึงวุ่นวายไม่สงบสุข ดังที่เห็นๆ กันอยู่'

นายนิพิฏฐ์ จึงต้องการสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับสังคมไทย โดยลงท้ายจดหมายว่า

'ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เห็นว่า ภาพยนตร์ Insects in the Backyard 'ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน' ห้ามฉายครับ!'

จดหมายชี้แจง นำไปสู่ข้อถกเถียงในสังคม ต่อความหมายของคำว่า 'ศีลธรรมอันดีของประชาชน' ขณะที่ 'ประชาชน' คนอื่นๆ เริ่มมีคำถามว่า พวกเขาในวัยที่สามารถเข้าคูหาเลือกตั้ง มีสิทธิเลือกชมภาพยนตร์ด้วยตัวเอง ได้หรือไม่

ปล. ผู้กุมอำนาจ และได้รับการยอมรับให้สามารถสร้างบรรทัดฐานตามแต่ใจตัวเอง จะด้วยความสมัครใจของพลเมืองคนอื่นๆในประเทศก็ดี ไม่สมัครใจก็ดี เคยกล่าวถึงสถานการณ์การ 'แบน' ภาพยนตร์ในเมืองไทยว่า 'ประเทศอื่นๆ เช่น 'จีน' มีการแบนหนังกันมากกว่าที่ประเทศไทยทำกันอยู่นี้ ไม่รู้กี่ร้อยเท่า'...

...เอวังด้วยประการฉะนี้





J