วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554

น้ำตาที่ยังไหลกับสันติภาพที่ยังมองไม่เห็นของซีเรีย




แล้วบาชาร์ อัล อัสซาด ผู้นำเรีย ก็ตัดสินใจใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดเข้าจัดการกับกลุ่มผู้ประท้วงในเมืองฮามา เช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่พ่อของเขาผู้เคยปกครองซีเรีย ใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงชาวซุนหนี่ เมื่อปี 2525 จนเป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตนับหมื่นราย

ในเหตุการณ์ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้ประท้วงทั่วประเทศ ตามคำสั่งของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อาซาด เมื่อวานนี้ ส่งผลให้มีประชาชนเสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 140 ราย และได้รับบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน โดยที่เมืองฮามาเพียงเมืองเดียว แหล่งข่าวท้องถิ่นให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างชาติว่า มีคนตายประมาณ 115 คน

เนื่องจากปัญหาที่ทางการซีเรียปิดกั้นการเข้าติดตามสถานการณ์ของสื่อต่างชาติ ทำให้การยืนยันตัวเลขและผลกระทบที่เกิดจากการเคลื่อนรถถังเข้าไปในเมืองฮามา เป็นไปอย่างยากลำบาก โดยการใช้กำลังเข้าสังหารหมู่ในเมืองฮามานี้ เกิดขึ้นภายหลังการชุมนุมของประชาชนจำนวนกว่า 500,000 คน เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งต้องการให้ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาดลงจากตำแหน่ง

ขณะที่สื่อต่างชาติวิพากษ์วิจารณ์ถึงสาเหตุที่เมืองฮามา กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ทางการซีเรียให้ความสำคัญในการล้อมปราบกลุ่มผู้ประท้วง ก็เนื่องมาจากจำนวนผู้ประท้วงในเมืองที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล จนฮามากลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้าน ด้านนักพิทักษ์สิทธิมนุษยชนรายงานว่า นับตั้งแต่การประท้วงต่อต้านรัฐบาลซีเรียเริ่มต้นขึ้น มีประชาชนเสียชีวิตแล้วทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 1,700 ราย และได้รับบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนหลายพันคน ซึ่งตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา แม้บาชาร์ อัล อัสซาด จะออกแถลงการณ์เตรียมปฏิรูปประเทศ แต่ก็ยังไม่ตรงกับความต้องการของประชาชนที่ยืนยันเรียกร้อง ประชาธิปไตยและเสรีภาพ

ข้อเรียกร้องที่ยังมีปัญหาก็เช่น การลงจากตำแหน่งของบาชาร์ อัล อัสซาด ผู้นำซีเรียแสดงออกอย่างชัดเจนว่า ไม่มีทางปฏิบัติตามข้อเรียกร้องนี้ ยุติกฏหมายสถานการณ์ฉุกเฉินที่ใช้มากว่า 48 ปี ทางการซีเรียมีคำสั่งยกเลิกตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม เมื่อวันที่ 21 เมษายน แต่เหตุการณ์หลังจากนั้นกลับตามมาด้วย การสังหารประชาชนกว่า 1,300 ราย และจับกุมผู้ประท้วงหลายหมื่นคน

ความรุนแรงที่เพิ่มระดับมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้หลายฝ่ายเริ่มหันไปมองท่าทีของนานาชาติ แต่นับจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีคำสั่งประกาศใช้มาตรการบทลงโทษที่เข้มข้นกับผู้นำซีเรีย หรือการส่งกำลังทหารเข้าแทรกแซงช่วยเหลือประชาชน โดยสาเหตุหลัก เชื่อกันว่า เป็นเพราะการเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางด้านความมั่นคงในโลกอาหรับ และความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของผู้นำซีเรียกับประเทศเพื่อนบ้าน

ซีเรียถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากในโลกตะวันออกกลาง เนื่องจากการเป็นชาติที่มีคณะผู้ปกครองเป็นชาวชีอะห์ เช่นเดียวกับอิหร่าน ชาติพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ, อิสราเอล และซาอุดิอาระเบีย ซึ่งความไม่แน่นอนที่อาจบานปลายไปเป็นการล่มสลายของระบบการปกครองแบบอัสซาด ย่อมส่งผลโดยตรงต่อเสถียรภาพและสันติภาพ

หลายฝ่ายเชื่อว่า หากบาชาร์ อัล อัสซาด ยอมลงจากอำนาจ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการแย่งชิงอำนาจจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง ซึ่งหากการเปลี่ยนแปลงขั้วการเมืองนั้น กลุ่มชีอะห์เป็นฝ่ายพ่ายแพ้  ความรุนแรงระหว่างอาหรับ กับประเทศที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาอย่างอิสราเอล อาจลุกโชนขึ้นมาอีกครั้ง เพราะขาดตัวกลางที่เชื่อมความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านชาตินิกายชีอะห์ ผู้มีอำนาจในการปกครองกลุ่มคนนิกายอื่นๆในประเทศของตน อย่างบาชาร์ อัล อัสซาด

สถานการณ์ความขัดแย้งในซีเรียจึงเป็นเรื่องที่มีความละเอียดซับซ้อน และรอคอย 'ปรากฏการณ์' บางอย่างที่จะมายุติเรื่องราวทั้งหมด โดยหวังได้แต่เพียงว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจะนำมาซึ่งสันติภาพของโลก และจบการเข่นฆ่าของเพื่อนมนุษย์





J

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น