วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

วิกฤติราคาอาหารโลกในอีก 20 ปี

หลายคนบนหอคอยงาช้าง อาจไม่เชื่อว่า ในปัจจุบัน คนอินเดียต้องจ่ายค่าอาหารคิดเป็นอัตราส่วนเทียบกับรายได้ แพงกว่าคนอังกฤษถึงเกือบสองเท่า ซึ่งหากเทียบรายรับที่เท่ากัน คนอินเดียต้องจ่ายค่านม 1 ลิตร ในราคา 500 บาท และค่าข้าว 1 กิโลกรัม ในราคา 300 บาท

ประชากรชาวกัมเตมาลา กว่า 865,000 คน กำลังอยู่ในสภาพขาดแคลนอาหาร เนื่องจากการขาดการลงทุนในเกษตรกรรายย่อย จนทำให้กัวเตมาลาต้องพึ่งพิงการนำเข้าอาหารจากต่างชาติเป็นสำคัญ

กำลังการผลิตข้าวสาลีของ อาเซอร์ไบจาน ลดลงจากปีที่แล้วกว่าร้อยละ 33 เนื่องจากสภาพอากาศ ขณะที่ราคาอาหารเมื่อเดือนธันวาคมปีก่อน พุ่งสูงขึ้นกว่าร้อยละ 20 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปี 2552

ประชากรในแถบแอฟริกาตะวันออกกว่า 8 ล้านคน ขาดแคลนอาหารเนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้งมาเป็นระยะเวลานาน โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ เด็กและผู้หญิง

จากรายงานล่าสุด Growing a Better Future ของอ็อกซ์แฟม องค์กรพัฒนาเอกชนสากล กล่าวว่า ราคาต้นทุนวัตถุดิบอาหารจะพุ่งสูงเกินกว่าร้อยละ 120 ถึง 180 ในปี 2573 หรืออีกไม่ถึง 20 ปี โดยปัจจัยหลักมาจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากสภาวะโลกร้อน โดยผลการประเมินสถานการณ์ของอ็อกซ์แฟม เป็นไปในทิศทางเดียวกับ ธนาคารโลกที่ออกโรงเตือนก่อนหน้านี้ว่า ราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น ผลักให้ประชากรโลกหลายล้านคนต้องตกอยู่ในสภาพยากจนสุดขีด และมีแนวโน้มว่าตัวเลขจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

อ็อกซ์แฟม เชื่อว่า ผู้นำโลกควรหันมาเริ่มทบทวนและเปลี่ยนท่าทีดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหา ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป ทั้ง การเพิ่มระบบตรวจสอบและสร้างความโปร่งใสในตลาดซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภค, เพิ่มระดับการสำรองอาหาร, ยกเลิกมาตรการสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ รวมถึงขยายการลงทุนในกลุ่มเกษตรกรรายย่อย โดยเฉพาะผู้หญิง


อย่างไรก็ตาม จากข้อเท็จจริงที่ว่า 1 ใน 7 ของประชากรโลกกำลังประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร การฝากความหวังไปที่ผู้นำโลกให้ดำเนินมาตรการต่างๆ อาจไม่ใช่วิธีเดียวที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เพราะเราสามารถเริ่มต้นได้ง่ายกว่า ด้วยการหันกลับมาทบทวนวิถีการบริโภคของตัวเอง เช่นวัฒนธรรมบุฟเฟ่ต์ ซึ่งปล่อยให้หลายคนได้หลงใหลกับความคุ้มค่าเชิงปริมาณ และต้องตกอยู่ในสภาพ 'เกินอิ่มจนไม่อร่อย' ขณะที่เพื่อนอีกซีกโลกหนึ่ง ไม่มีแม้แต่น้ำสะอาดให้ดื่ม 








J

วันพุธที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

Oprah Winfrey, Living Our Best Life





เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา สาวก Oprahfication จำนวนกว่า 13,000 คน เดินทางเข้าร่วมชมการบันทึกเทปครั้งสุดท้าย ของเจ้าแม่วงการโทรทัศน์สหรัฐฯ โอปราห์ วินฟรีย์ บริเวณอาคารยูไนเต็ดเซ็นเตอร์ มหานครชิคาโก ท่ามกลางบรรยากาศอบอวลไปด้วยรอยยิ้ม และคราบน้ำตาของการจากลา ความสำเร็จตลอดการทำงาน 25 ปี ทำให้วันที่ 25 พฤษภาคม 2554 กลายเป็นวันที่มีความสำคัญยิ่ง เมื่อเทปสุดท้ายของรายการ ดิ โอปราห์ วินฟรีย์ โชว์ กำลังจะออกอากาศ

ดิ โอปราห์ วินฟรีย์ โชว์ ตอนสุดท้าย มีอดีตแขกรับเชิญ ซึ่งเคยร่วมพูดคุยกับเจ้าแม่ทอล์คโชว์ ทั้งบุคคลผู้มีชื่อเสียงอย่าง ไมเคิล จอร์แดน, ทอม ครูซ, อาลีธา แฟรงคลิน ไปจนถึงบรรดาศิษย์เก่าจากโรงเรียนมอร์เฮ้าส์ ที่ขึ้นมากล่าวขอบคุณโอปราห์ สำหรับทุนการศึกษา อาวุธสำคัญที่พวกเขาใช้ต่อสู้กับความยากลำบาก จนในวันนี้หลายต่อหลายคนก้าวขึ้นเป็นหมอ, ทนาย หรือเจ้าหน้าที่ในกองทัพสหรัฐฯ โดยหลังจากนี้ โอปราห์ วินฟรีย์ ประกาศจะอุทิศตนให้กับการบริหารงาน 'Own' ช่องเคเบิลของเธอ




โอปราห์ เกล วินฟรีย์ เกิดเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2497 หนึ่งในบุคคลที่ทรงอิทธิพล และมีค่าตัวสูงที่สุดในวงการโทรทัศน์สหรัฐฯ หากใครจะคิดว่า ความสำเร็จในทุกวันนี้ของเธอ โรยรายมาด้วยกลีบกุหลาบ ก็คงต้องตอบว่าไม่ใช่ โอปราห์ วินฟรีย์ เกิดในครอบครัวแอฟริกัน-อเมริกัน ที่ยากจนในมลรัฐมิสซิสซิปปี้, เธอถูกข่มขืนขณะที่มีอายุได้เพียง 9 ขวบ และท้องโดยไม่มีพ่อขณะอายุ 14 ปี ส่วนลูกของเธอก็เสียชีวิต หลังเธอคลอดได้ไม่นาน ชีวิตจริงที่ไม่ใช่ละครของเธอ อาจทำให้หลายคนสงสัยว่า 'หัวใจของโอปราห์' ทำด้วยอะไร จึงพาเธอต่อสู้มาถึงจุดที่เธอกำลังยืนอยู่ตรงนี้

โอปราห์ วินฟรีย์ เริ่มต้นทำงานในฐานะสื่อมวลชน ขณะมีอายุเพียง 19 ปี โดยเป็นผู้ประกาศข่าวที่อายุน้อยที่สุด และเป็นผู้ประกาศหญิงผิวสีคนแรกของสหรัฐฯ ส่วนความสำเร็จในมาดพิธีกรเริ่มต้นด้วยรายการ 'AM Chicago' เมื่อปี 2527 ก่อนเปลี่ยนมาเป็น 'ดิ โอปราห์ วินฟรีย์ โชว์' ในอีก 2 ปีต่อมา

โอปราห์ วินฟรีย์ เป็นแม่เหล็ก ที่ทำให้รายการ ดิ โอปราห์ วินฟรีย์ โชว์ กลายเป็นหนึ่งในรายการโทรทัศน์ที่มียอดคนดูมากที่สุดรายการหนึ่ง และส่งให้เธอกลายเป็นผู้หญิงที่ทรงอิทธิพล และร่ำรวยที่สุดในวงการโทรทัศน์สหรัฐฯ แต่ความสำเร็จต่างๆ ไม่เคยทำให้เธอลืมรากเหง้าความเจ็บปวดในอดีต เธอใช้เงินส่วนตัวเปิดโรงเรียนมูลค่ากว่า 40 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1,200 ล้านบาท เมื่อปี 2550 เพื่อช่วยเหลือเด็กผู้หญิงด้อยโอกาสในประเทศแอฟริกาใต้ เนื่องจากเล็งเห็นว่า สิ่งที่จะช่วยเหลือผู้ยากไร้ให้ต่อสู้กับปัญหาสังคมต่างๆ ไม่ใช่เงินทอง แต่เป็นการมอบโอกาสทางการศึกษา

โอปราห์ วินฟรีย์ เคยกล่าวกับเพื่อนสนิทถึงสิ่งที่ ดิ โอปราห์ วินฟรีย์ โชว์ ต้องการนำเสนอว่า 'สถานการณ์ไม่ใช่ตัวกำหนดสิ่งที่คุณเป็น ถ้าวันนี้คุณต้องเผชิญสิ่งที่เลวร้าย แต่คุณจะมีวันพรุ่งนี้ ให้เริ่มต้นใหม่เสมอ และหากคนทั้งสังคมจะปฏิเสธคุณว่า คุณไม่มีวันจะทำมันได้ แต่คนที่จะตอบคำถามเหล่านี้ มีเพียงตัวคุณคนเดียวเท่านั้น'

คำพูดเหล่านี้... ไขความลับเบื้องหลัง 'หัวใจ' ผู้หญิงแกร่งที่ชื่อ โอปราห์ วินฟรีย์ ได้เป็นอย่างดี






J

วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

มาร์เลย์ เร็กเก้ เสรีภาพ




'บ็อบ มาร์เลย์ เขียนเนื้อร้องได้ทรงพลังเหมือนบ็อบ ดีแลน, มีเสน่ห์เฉพาะตัวแบบจอห์น เลนนอน และลักษณะสไตล์การร้องโดดเด่นอย่าง สโมกกี้ โรบินสัน'
: แจนน์ เวนเนอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสาร โรลลิ่ง สโตน

'อัลบั้ม เอ็กโซดัส ของ บ็อบ มาร์เลย์ แอนด์ เดอะ เวลเลอร์ส คืออัลบั้มที่ดีที่สุด ในศตวรรษที่ 20'
: นิตยสาร ไทมส์

'บ็อบ มาร์เลย์ ไม่มีวันถูกลบออกไปจากใจพวกเรา เขาคือหนึ่งในจิตสำนึกส่วนรวมของชาวจาเมกา'
: เอ็นเวิร์ด ซีกา อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศจาเมกา




แจนน์ เวนเนอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสารคนดนตรีชื่อดังอย่าง โรลลิ่ง สโตน เคยกล่าวยกย่องบุรุษผู้หนึ่งไว้อย่างสุภาพและนับถือว่า เขาเป็นซุปเปอร์สตาร์คนแรกที่มาจากประเทศโลกที่ 3 และเป็นผู้แนะนำโลกให้รู้จักกับพลังอันลี้ลับของบทเพลงแนวเร็กเก้ รวมถึงมีเอกลักษณ์ที่เป็นส่วนผสมของการเขียนเนื้อร้องทรงพลังอย่างบ็อบ ดีแลน, เสน่ห์เฉพาะตัวแบบจอห์น เลนนอน และสไตล์การร้องที่โดดเด่นเหมือน สโมกกี้ โรบินสัน เขาผู้นั้นมีนามว่า 'บ็อบ มาร์เลย์'

บ็อบ มาร์เลย์ บุรุษที่มาพร้อมสัญลักษณ์สีเหลือง เขียว แดง และดนตรีแนวเร็กเก้ จากประเทศจาเมกา ขณะที่หากจะหานักดนตรีเพื่อชีวิตที่ยิ่งใหญ่สักคนหนึ่ง บ็อบ มาร์เลย์ ต้องเป็นหนึ่งในรายชื่อเหล่านั้น อย่างไม่ต้องสงสัย

บ็อบ มาร์เลย์ เกิดเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ปี 2488 และเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ในวัยเพียง 36 ปี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ปี 2524 บทเพลงทรงคุณค่าที่บ็อบ มาร์เลย์ รังสรรค์ทั้งในนามของตัวเอง และวงดนตรี บ็อบ มาร์เลย์ แอนด์ เดอะ เวลเลอร์ส ได้รับการยกย่องอย่างสูง ทั้งในแง่ของการเป็นผู้เปิดศักราชใหม่ให้กับเร็กเก้และสกา รวมถึงในแง่ของความหมายนัยยะทางสังคมที่ลึกซึ้ง

อัลบั้ม เอ็กโซดัส ของ บ็อบ มาร์เลย์ แอนด์ เดอะ เวลเลอร์ส ได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทมส์ ให้เป็นอัลบั้มที่ดีที่สุด ในศตวรรษที่ 20 ขณะที่ 'เลเจนด์' อัลบั้มรวมเพลงของบ็อบ มาร์เลย์ ซึ่งวางขายหลังเขาเสียชีวิตได้ 3 ปี ทำสถิติเป็นอัลบั้มเร็กเก้ที่ขายดีที่สุดตลอดกาล โดยมียอดจำหน่ายไม่ต่ำกว่า 25 ล้านแผ่นทั่วโลก

ในด้านของเนื้อร้องบ็อบ มาร์เลย์ ได้รับการยกย่องว่า เป็นหนึ่งในผู้ที่ใช้ภาษาแต่งเพลงได้อย่างทรงพลัง ซึ่งเนื้อร้องในบทเพลงของบ็อบ มาร์เลย์ มักจะมี 'ราก' มาจากสภาพสังคมจาเมกา บ้านเกิด โดยเฉพาะเรื่องของการเมืองและวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม บทเพลงบ็อบ มาร์เลย์ มีลักษณะนุ่มนวลกว่าบทเพลงเพื่อชีวิตที่ร่วมสมัยทั้งในขณะนั้นและในขณะนี้ ขณะที่เนื้อร้องก็ค่อนข้างสุภาพ ไม่เกรี้ยวกราด แต่จะมีนัยยะ แฝงทัศนะทางสังคม และการมองโลกไว้อย่างลึกซึ้ง

บ็อบ มาร์เลย์ ใช้ดนตรีและบทเพลง เป็นอาวุธในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพของคนผิวสี ท่ามกลางกระแสความแตกแยกเรื่องสีผิว หลังเหตุจราจลและการปะทะกันระหว่างกลุ่มคนผิวขาวและผิวสี ในประเทศจาเมกา เมื่อปี 2508 ขณะที่บทเพลงจำนวนมากของบ็อบ มาร์เลย์ ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการแสดงออกถึงปัญหาสังคม โดยกลุ่มรณรงค์ต่อต้านการเหยียดผิว และขบวนการคนผิวดำ เช่นเพลง I shot the Sheriff

การก้าวขึ้นเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ ในบริบทสังคมที่เปราะบาง ทำให้ความเสี่ยงจะถูกหมายปองเอาชีวิตเพิ่มสูงขึ้น โดยเมื่อปี 2519 เขาและเพื่อนร่วมวง ถูกลอบยิง ก่อนขึ้นแสดงคอนเสิร์ต 'สไมล์ จาเมกา' ฟรีคอนเสิร์ตที่มีวัตถุประสงค์ ผ่อนคลายความตึงเครียดทางการเมืองของสังคมจาเมกา

บ็อบ มาร์เลย์ ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย และตัดสินใจขึ้นแสดงคอนเสิร์ต ในอีก 2 วันต่อมา แม้ว่าภรรยาและเพื่อนร่วมวงคนหนึ่งจะได้รับบาดเจ็บสาหัส โดยเขาได้กล่าวถึงเหตุผลว่า 'บรรดาผู้คนที่พยายามหาทางทำให้โลกนี้เลวร้ายลง ต่างไม่เคยคิดจะหยุดพัก แล้วตัวเขาเองจะมามัวหยุดพักได้อย่างไร' คำตอบนี้ กลายมาเป็นหนึ่งใน 'วลีสันติภาพ' ภายใต้ความทรงจำของใครหลายคน ขณะที่สาวกอีกหลายต่อหลายคนกล่าวว่า แม้ร่างกายของบ็อบ มาร์เลย์จะร่วงโรยไป แต่หาใช่จิตวิญญาณจะร่วงโรยตาม และหากโลกจะเลวร้ายอย่างไร แต่ everything is gonna be alright...






J

วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การปิด และเปิด 'เกมส์ล้างแค้น'




ประธานาธิบดีบารัก โอบาม่า ออกแถลงการณ์ยืนยัน เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ว่า กองทัพสหรัฐฯ สามารถบุกเข้าโจมตีฐานที่มั่นของกลุ่มอัล กออิดะห์ ในประเทศปากีสถาน และภายหลังจากการนำดีเอ็นเอของร่างชายต้องสงสัย ไปตรวจกับน้องสาวของอุซามะห์ บิน ลาดิน ก็พบว่า หนึ่งในผู้เสียชีวิต คือหัวหน้ากลุ่มผู้ก่อการร้าย อัลกออิดะห์ หรือ อุซามะห์ บิน ลาดิน

หลังจากที่ทราบข่าว ประชาชนชาวสหรัฐฯจำนวนมาก ออกมาร่วมเฉลิมฉลองแสดงความยินดีกันในหลายพื้นที่ ทั้งในกรุงวอชิงตัน ดีซี หรือกลางมหานครนิวยอร์ค เช่นเดียวกับ ผู้นำชาติต่างๆ ทั้งผู้นำอัฟกานิสถานที่ออกมาแสดงความเห็นว่า การตายของบิน ลาดิน คือหนึ่งในเหตุการณ์ที่มีความสำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งของโลก ส่วนรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศส กล่าวแสดงความยินดี และเชื่อว่า สถานภาพทางการเมืองของอัฟกานิสถาน จะดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ชายที่คนจำนวนกว่าครึ่งโลกรู้สึกโล่งใจ เมื่อได้ยินข่าวการตาย เกิดเมื่อปี 2500 โดยไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าบุตรชายของเศรษฐีนักธุรกิจชาวซาอุฯ เปลี่ยนไปเข้าพวกกับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงได้อย่างไร แต่มีหลักฐานที่ค่อนข้างเชื่อถือได้ว่า บิน ลาดิน เป็นผู้ที่ช่วยระดมทุน และหาช่องทางให้อาสมัครชาวมุสลิม ได้เข้าร่วมการรบในฐานะนักรบศาสนา มุญาฮิดีน ระหว่างการรุกรานประเทศอัฟกานิสถานของโซเวียต เมื่อปี 2522

ขณะที่ความชิงชังสหรัฐฯ เชื่อกันว่าเริ่มต้นขึ้นระหว่างวิกฤติการณ์อ่าวเปอร์เซีย เมื่อปี 2533 - 2534 หลังสหรัฐฯ ดำเนินการตั้งฐานทัพในประเทศซาอุดิอาระเบีย เพื่อตอบโต้กองทัพอิรักที่พยายามบุกเข้ายึดครองคูเวต โดยบิน ลาดิน รู้สึกว่าการกระทำของสหรัฐฯ เป็นเสมือนการรุกรานดินแดนอาหรับของชาวตะวันตก เขาจึงเริ่มต้นคิดหาหนทาง 'แก้แค้น'

บิน ลาดิน ถูกทางการสหรัฐฯเชื่อมโยงกับกลุ่มอัล กออิดะห์ ครั้งแรก จากเหตุการณ์วางระเบิดตึกเวิร์ดเทรด เซนเตอร์ ในสหรัฐฯ เมื่อปี 2536 ซึ่งหลังจากนั้น เหตุการณ์วินาศกรรมครั้งใหญ่ ทั้งในและนอกสหรัฐฯ ที่มีเหยื่อเป็นชาวอเมริกัน มักถูกนำไปเชื่อมโยงกับตัว อุซามะห์ บิน ลาดิน

เขาได้รับการยอมรับอย่างสูงในฐานะของจอมวางแผน โดยเฉพาะเหตุการณ์ช็อกโลกอย่าง 9/11 ที่มีผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินก่อนนำพุ่งชนตึกเวิร์ดเทรด เซนเตอร์ และอาคารเพนตากอน ของสหรัฐฯ จนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนสูงถึง 3,000 ราย เมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี 2544

เหตุการณ์ 9/11 ตามมาด้วยการ 'ล้างแค้น' ครั้งใหญ่ของกองทัพสหรัฐฯ ในการบุกเข้าปราบปรามกองกำลังตาลีบัน ในประเทศอัฟกานิสถาน ซึ่งสุดท้ายแม้ ตาลีบันจะพ่ายแพ้อย่างราบคาบ แต่สหรัฐฯ ก็ยังไม่สามารถจับกุมตัว อุซามะห์ บิน ลาดิน ที่หนีหายไปอย่างไร้ร่องรอยได้ จนกระทั่งวันที่ 1 พฤษภาคม 2554 โลกก็ได้ยินข่าวว่า แผนการตามล่าที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลากว่า 18 ปี สัมฤทธิ์ผล

การตายของอุซามะห์ บิน ลาดิน อาจนำไปสู่จุดจบของการก่อการร้าย ได้เช่นเดียวกับการเป็นบทโหมโรงให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของพลเรือนมากขึ้น โดยประธานาธิบดีบารัก โอบาม่า ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ในแถลงการณ์ยืนยันการเสียชีวิตของบิน ลาดินว่า ประชาชนชาวอเมริกัน อาจจำเป็นต้องเตรียมรับมือกับภัยก่อการร้ายเพิ่มมากขึ้น แม้กลุ่มอัล กออิดะห์ จะสูญเสียผู้นำของตนไปแล้วก็ตาม


ซึ่งหากการตายของอุซามะห์ บิน ลาดิน คือสิ่งที่คนกว่าครึ่งโลกต้องการ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากไฟแค้นที่ต่างฝ่ายต่างกระพือ อาจทำให้ไม่มีใคร ได้ลิ้มรสชัยชนะในสงครามครั้งนี้





J

วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เทพนิยาย





ซินเดอเรลล่า เรื่องราวของสาวสามัญชน ที่ 'ความรัก' ได้ปัดเป่าเคราะห์ร้ายต่างๆ ที่เธอต้องเผชิญ // เทพนิยายสุดโรแมนติกเรื่องนี้ ได้รับความนิยมอย่างสูง และตัวซินเดอเรลล่า ก็ได้รับการยอมรับอย่างไม่เป็นทางการว่า เป็นสัญลักษณ์ของสามัญชน ที่ความรักชักพาเธอให้กลายเป็นเจ้าหญิง วันนี้ เรามีเรื่องราวความรักของเจ้าชาย กับซินเดอเรลล่าในโลกแห่งความเป็นจริง ที่ฐานันดรศักดิ์ ไม่อาจเป็นอุปสรรค มาให้คุณผู้ชมได้ชมกัน


วอลลิส ซิมป์สัน สาวสังคมชั้นสูงชาวอเมริกัน แม้พระองค์จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เกี่ยวกับเรื่องของความเหมาะสม หลังทรงเคยมีประวัติหย่าร้างมาแล้วถึง 2 ครั้ง แต่เรื่องราวในอดีต ก็ไม่สามารถทำให้กษัตริย์ เอ็ดเวิร์ด ที่ 8 ของอังกฤษ เปลี่ยนพระทัยได้ หนำซ้ำหลังถูกหลายฝ่ายกดดัน พระองค์ทรงตัดสินพระทัยที่จะสละราชสมบัติ เพื่อให้ได้ครองรักกับวอลลิส ซึ่งต่อมาทั้งสองได้ดำรงพระยศเป็น ดยุค และดัชเชสส์ แห่งวินด์เซอร์


เกรซ เคลลี ดาราสาวเจ้าบทบาทแห่งโลกฮอลลีวู้ด ที่ก้าวขึ้นเป็น เจ้าหญิงเกรซ เคลลี แห่งโมนาโก หลังทรงพบรักกับเจ้าชายเรนีเยที่ 3 แห่งโมนาโก พระองค์ทรงเป็นผู้นำฝ่ายสตรีของประเทศ ขณะที่ความรักของพระองค์ กับเจ้าชายเรนีเย ที่ 3 ถือเป็นหนึ่งในเรื่องราวสุดโรแมนติก ที่ประทับใจหญิงสาวทั่วโลกมากมาย


ซอนย่า ฮารัลด์เซน ความรักของพระองค์ กับองค์มกุฏราชกุมารแห่งนอร์เวย์ ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และถูกคัดค้านมากมาย แต่สุดท้าย 'เวลา' ได้เป็นเครื่องพิสูจน์ จนทั้งสองทรงสามารถฟันฝ่าอุปสรรค และได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีฮารัลด์ ที่ 5 และสมเด็จพระราชินีซอนย่า กษัตริย์และราชินีแห่งประเทศนอร์เวย์


มิชิโกะ โชดะ ทรงเป็นสามัญชนคนแรกในประวัติศาสตร์ ที่อภิเษกกับราชวงศ์ญี่ปุ่น พระองค์ทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับมกุฏราชกุมาร อะกิฮิโตะ แห่งญี่ปุ่น เมื่อปี 2502 ก่อนทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระจักรพรรดินี มิชิโกะ แห่งญี่ปุ่น ในปี 2533 หลังสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ เข้าพระราชพิธีอภิเษกเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ


ซิลเวีย ซอมเมอร์ลาธ หญิงสามัญชนเชื้อสายเยอรมัน ทรงพบรักกับเจ้าฟ้าชายคาร์ล กุสตาฟ มกุฏราชกุมาร แห่งสวีเดน ในระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เมื่อปี 2515 และทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน ภายหลังจากที่เจ้าฟ้าชาย เสด็จขึ้นครองราชย์ ในปี 2516


เมทเทอ-มาริต ชีเซิม เฮออิบี ทรงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทั้งทรงเป็นแม่หม้ายลูกติด รวมถึงข่าวลือ เช่น ปัญหายาเสพติด และการเป็นอดีตนักเต้น อย่างไรก็ตาม เจ้าฟ้าชายโฮกุน มกุฏราชกุมารแห่งนอร์เวย์ ทรงไม่สนพระทัย และทรงเข้าพิธีอภิเสกสมรสกัน เมื่อปี 2544 โดยทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น เจ้าฟ้าหญิงเมทเทอ-มาริต มกุฏราชกุมารีแห่งนอร์เวย์


ซัลมา เบนนานี หรือเจ้าหญิงลัลลา ซัลมา แห่งโมร็อกโก ทรงเป็นเจ้าหญิงพระวรราชชายาพระองค์แรก ในสมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 แห่งโมร็อกโก กษัตริย์องค์ปัจจุบัน โดยเจ้าหญิงลัลลา ซัลมา ทรงเป็นพระวรราชชายาในสมเด็จพระราชาธิบดี พระองค์แรกในประวัติศาสตร์โมร็อกโก ที่ได้รับพระราชทานอิสริยยศ และทรงมีสิทธิ์ประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆอย่างเป็นทางการ


การแต่งงาน เป็นตอนจบของเทพนิยายซินเดอเรลล่า ขณะที่ในโลกแห่งความเป็นจริง พิธีเสกสมรส เป็นเพียง 'ตอนหนึ่ง' ของบทละครแห่งชีวิตเท่านั้น โดยยังทิ้งคำตอบของตอนจบ เทพนิยายชีวิตจริงสุดโรแมนติก ให้เจ้าชายและเจ้าหญิง ได้ทรงเสกสรรและปรุงแต่งต่อไปว่า จะสวยสด และงดงามเช่นไร





J