วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

If you want to sing out, sing out


หากคุณอยากจะร่ำร้อง จงร้อง
หากคุณต้องการจะเป็นอิสระ จงอิสระ
เพราะมีอีกหลายล้านสิ่งที่คุณสามารถเป็น
คุณก็รู้ว่ามันคืออะไร

หากคุณอยากจะบินสูง จงบินสูง
หากคุณต้องการจะบินต่ำ จงบินต่ำ
เพราะมีอีกหลายล้านสิ่งที่คุณสามารถก้าวไป
คุณก็รู้ว่ามันคือที่ไหน

คุณสามารถทำสิ่งที่คุณปรารถนา
โอกาสนั้นหนา มันมีอยู่
และหากคุณหาหนทางใหม่ที่จะก้าวเดิน
คุณก็ทำมันได้ตั้งแต่นี้
คุณก็ทำให้ประจักษ์จริงได้
และคุณก็ทำมันสูญสลายได้เช่นกัน
เห็นไหม...
ช่างง่ายดาย...
เพียงว่าคุณต้องเข้าใจ...

หากคุณอยากจะกล่าว ใช่ จงกล่าว ใช่
หากคุณต้องการจะเอ่ย ไม่ จงเอ่ย ไม่
เพราะมีอีกหลายล้านสิ่งที่คุณสามารถก้าวไป
คุณก็รู้ว่ามันคือที่ไหน

หากคุณอยากจะเป็นฉัน จงเป็นฉัน
หากคุณต้องการจะเป็นคุณ จงเป็นคุณ
เพราะมีอีกหลายล้านสิ่งที่คุณสามารถทำได้
คุณก็รู้ว่ามันคือสิ่งใด

คุณสามารถทำสิ่งที่คุณปรารถนา
โอกาสนั้นหนา มันมีอยู่
และหากคุณหาหนทางใหม่ที่จะก้าวเดิน
คุณก็ทำมันได้ตั้งแต่นี้
คุณก็ทำให้ประจักษ์จริงได้
และคุณก็ทำมันสูญสลายได้เช่นกัน
เห็นไหม...
ช่างง่ายดาย...
เพียงว่าคุณต้องเข้าใจ...

หากคุณอยากจะร่ำร้อง จงร้อง
หากคุณต้องการจะเป็นอิสระ จงอิสระ
เพราะมีอีกหลายล้านสิ่งที่คุณสามารถเป็น
คุณก็รู้ว่ามันคืออะไร...
คุณก็รู้ว่ามันคือที่ไหน...
คุณก็รู้ว่ามันคือสิ่งใด...
คุณก็รู้ว่า...

: Cat Stevens, Yusuf Islam





J

วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เมื่อใบไม้ใกล้ปลิดปลงเจอกับโจรขโมยน้ำ


ภายหลังจากที่ข่าวคราวเกี่ยวกับการลักลอบขโมยอาหาร ซึ่งได้รับจากการบริจาคโดยประชาคมโลก เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบทุพภิกขภัยในประเทศโซมาเลีย แพร่สะพัดออกมา ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการจัดการและแนวทางแก้ไขปัญหา โดยเจ้าหน้าที่โครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ หรือดับบลิวเอฟพี ประกาศเตรียมเร่งดำเนินการสืบสวนกรณีดังกล่าว ขณะที่ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถหยุดส่งมอบความช่วยเหลือลงไปยังพื้นที่ได้ เนื่องจากความรุนแรงของวิกฤติการณ์ที่กำลังคุกคามชาวโซมาเลียขณะนี้

องค์การสหประชาชาติเรียกร้องความช่วยเหลือจากนานาชาติ หลังประชาชนชาวโซมาเลียจำนวนกว่า 3 ล้าน 2 แสนคน ประสบปัญหาความอดอยาก เนื่องจากต้องเผชิญทั้งปัญหาภัยแล้งครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 60 ปี และเหตุการณ์ความรุนแรงเพื่อแย่งชิงอำนาจท้องถิ่น โดยเจ้าหน้าที่สหรัฐฯกล่าวว่า มีเด็กชาวโซมาเลียอายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิตจากการขาดสารอาหารแล้วเป็นจำนวนถึงกว่า 29,000 ราย

แต่ความช่วยเหลือซึ่งเริ่มหลั่งไหลมาจากทั่วโลก กลายเป็นเหตุการณ์อื้อฉาว เมื่อมีผู้พบเบาะแสการลักลอบขโมยอาหารบริจาคไปขายตามร้านค้าท้องถิ่น โดยผู้สื่อข่าวต่างประเทศรายงานว่า พบร้านค้าจำนวนมาก มีกองกระสอบอาหารที่มีตราประทับของดับบลิวเอฟพี, หน่วยงานการกุศลสหรัฐฯ รวมถึงรัฐบาลญี่ปุ่น

อาหารที่ตกไปอยู่ในมือพ่อค้าหรือนักธุรกิจ มาจากทั้งการลักลอบขโมยและการใช้กำลังบังคับเอาจากผู้ประสบภัย โดยประชาชนในค่ายผู้อพยพรายหนึ่งกล่าวว่า เขาได้รับบริจาคข้าวโพดกระสอบมาแล้ว 2 ครั้ง และทุกครั้ง เขาถูกบังคับให้ต้องแบ่งครึ่งหนึ่งของสิ่งของบริจาค ให้กับหัวหน้าผู้ดูแลค่ายลี้ภัย เพื่อแลกกับการได้อยู่ในค่ายต่อไป

ส่วนเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในกรุงโมกาดิชู ของโซมาเลีย กล่าวว่า อาหารบริจาคอาจถูกขโมยเป็นจำนวนมากถึงครึ่งหนึ่งของปริมาณอาหารบริจาคทั้งหมด โดยเขาเชื่อว่าผู้อยู่เบื้องหลังคือกลุ่มนายทุนไร้ศีลธรรม ที่แม้จะได้ส่วนแบ่งคิดเป็นรายได้เพียงน้อยนิด แต่ความช่วยเหลือที่หลั่งไหลเข้ามายังโซมาเลีย โดยขาดการควบคุมที่เข้มงวด ทำให้การขโมยและขายสินค้าบริจาค กลายเป็นช่องทางธุรกิจ ที่ทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ

ปัญหาที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความสามารถในการเข้าถึงผู้ประสบภัย ของหน่วยงานการกุศล รวมถึงความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นของทางการโซมาเลีย ขณะที่เจ้าหน้าที่โครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า การติดตามผลการช่วยเหลือในโซมาเลีย เป็นงานที่มีความสุ่มเสี่ยง โดยตั้งแต่เมื่อปี 2551 มีเจ้าหน้าที่ดับบลิวเอฟพี เสียชีวิตแล้วถึง 14 ราย

การส่งความช่วยเหลือให้ผู้ประสบภัยในโซมาเลีย ยังเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น แต่ปัญหาการลักลอบขโมยอาหารบริจาค ก็เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายต้องหันมาลงมือแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อให้การบริจาคและการช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะไม่เช่นนั้น ก็จะกลายเป็นเหมือนที่หัวหน้าหน่วยงานการกุศล ผู้ติดตามสถานการณ์โซมาเลีย กล่าวไว้ว่า ระหว่างการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เราได้แบ่งอาหารให้กองกำลังติดอาวุธและกลุ่มผู้มีอิทธิพลรอดพ้นจากวิกฤติภัยแล้ง เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสกลับมาคร่าชีวิตชาวโซมาเลีย ที่เราพยายามช่วยเหลือและรักษาไว้ในวันนี้





J

วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2554

'ภัยก่อการร้าย' กับเสียงร้องไห้ที่ไม่มีใครได้ยิน

ภายในระยะเวลาเพียง 2 วัน เกิดเหตุวินาศกรรมขึ้นถึง 3 ประเทศ และมีผู้เสียชีวิตรวมกันเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 100 คน

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เกิดเหตุระเบิดพลีชีพขึ้นบริเวณตอนกลางของประเทศอัฟกานิสถาน ระหว่างการประชุมเจ้าหน้าที่หน่วยงานรักษาความปลอดภัยรัฐบาล โดยพยานในที่เกิดเหตุกล่าวว่า ได้ยินเสียงระเบิดไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง บริเวณฐานที่มั่นของเมืองปาร์วาน ขณะที่เจ้าหน้าที่สามารถวิสามัญคนร้าย ก่อนจะทันก่อเหตุระเบิดอีกจุดหนึ่งได้ เหตุวินาศกรรมที่เกิดขึ้นส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 22 ราย ได้รับบาดเจ็บอีก 34 คน โดยกว่า 16 รายของเหยื่อระเบิดพลีชีพในครั้งนี้ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทำงานในบริเวณดังกล่าว


วันเดียวกัน ที่ประเทศปากีสถาน เกิดเหตุลอบวางระเบิดในโรงแรมทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 12 ราย และได้รับบาดเจ็บอีก 20 คน โดยก่อนหน้านั้นไม่กี่ชั่วโมง กองกำลังติดอาวุธไม่ทราบฝ่ายได้ยิงจรวดเข้าโจมตีค่ายทหาร จนมีผู้เสียชีวิต 3 ราย ซึ่งเหตุการณ์วินาศกรรมสองครั้งซ้อน เกิดขึ้นในระหว่างการเฉลิมฉลองครบรอบวันประกาศเอกราช ปีที่ 64 โดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกล่าวว่า คนร้ายได้ลอบเข้าไปวางระเบิดในโรงแรมและกดระเบิด ในขณะที่มีประชาชนนั่งกันอยู่เต็มบริเวณห้องโถง


ส่วนวันนี้ ที่ประเทศอิรัก บริเวณเมืองคุต เกิดเหตุคาร์บอมบ์ และลอบวางระเบิดแสวงเครื่อง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 34 ราย และได้รับบาดเจ็บอีกถึง 65 คน ขณะที่ในเวลาไร่เรี่ยกัน คนร้ายได้ก่อเหตุวินาศกรรม ทั้งลอบยิง, คาร์บอมบ์ รวมถึงระเบิดพลีชีพ อีกกว่า 12 จุดทั่วประเทศ ทำให้มีเหยื่อวินาศกรรมภายในวันนี้วันเดียว รวมแล้วกว่า 52 ราย เหตุการณ์ความรุนแรง เกิดขึ้นหลังจากเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ทางการอิรักประกาศเจรจากับรัฐบาลกรุงวอชิงตัน ในเรื่องของการขยายกรอบเวลาโครงการฝึกทหารต่อจากปลายปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ สหรัฐฯต้องถอนทหารจำนวนกว่า 47,000 นาย ออกจากอิรัก ตามข้อตกลงทวิภาคี ที่ทำกันเอาไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2551


นับตั้งแต่วันที่โลกเริ่มประกาศสงครามกับภัยคุกคาม ด้วยการใช้กองกำลังทหารเข้าปราบปราม เหตุวินาศกรรมและการก่อการร้ายกลับมีแต่ยิ่งรุนแรงและโหดร้ายมากขึ้น จนทำให้ความรู้สึกของประชาชนทั่วไป ต่อการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินพลเมืองโลก เริ่มกลายเป็นความเฉยชา


จะถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่โลกจะหันกลับมาทบทวนบทเรียนโศกนาฏกรรมครั้งแล้วครั้งเล่า และเริ่มต้นดำเนินมาตรการจัดการกับความรุนแรงเสียใหม่ ก่อนที่ความรู้สึกสำนึกในมนุษยธรรมจะถูกทำลาย จนกลายเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย และทำให้เรา 'ตายด้าน' กับ 'การตาย' ของใครสักคนหนึ่ง





J

วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554

'ชนวน' จลาจลอังกฤษ



จากเหตุการณ์ 'น้ำผึ้งหยดเดียว' เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจวิสามัญฆาตกรรมมาร์ก ดักเกน ชายชาวอังกฤษวัย 29 ปี บานปลายกลายเป็นปัญหาระดับประเทศ ด้วยเหตุลอบวางเพลิง และจลาจลในหลายเมืองของเกาะอังกฤษ

ทางการอังกฤษเตรียมส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 13,000 นาย เข้าประจำการในกรุงลอนดอน เพื่อควบคุมการจลาจล ที่อาจจะเกิดขึ้นเป็นคืนที่ 4 หลังเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวานนี้ ขยายจากทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน ไปทางตอนใต้ในเขตครอยดอน และอีกหลายเมืองทั้งเบอร์มิงแฮม, ลิเวอร์พูล, นอตติ้งแฮม และบริสตอล บ้านเรือนร้านค้าได้รับความเสียหายหลายหลัง ทั้งจากการบุกเข้าทำลายขโมยข้าวของ และการวางเพลิง

การประท้วงครั้งแรกเริ่มต้นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา หลังการเสียชีวิตของมาร์ก ดักเกน โดยครอบครัวและสมาชิกชุมชนท้องถิ่นราว 120 คน เดินชุมนุมบนถนนย่านท็อตแนม เพื่อเรียกร้องให้ทางการเปิดเผยสาเหตุการวิสามัญคุณพ่อลูกสี่วัย 29 ปี แต่การเดินประท้วงอย่างสงบ จบลงในช่วงค่ำด้วยความรุนแรง เมื่อกลุ่มวัยรุ่นบุกเข้าทุบรถตำรวจ และขโมยข้าวของในร้านค้าบริเวณดังกล่าว ขณะที่เจ้าหน้าที่กล่าวว่า เหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นเนื่องจากกลุ่มคนนอก ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ฉวยโอกาสร่วมผสมโรงก่อความวุ่นวาย

ช่วงเย็นวันอาทิตย์ เหตุการณ์ลักษณะเดียวกันเกิดขึ้น เมื่อกลุ่มอันธพาลวัยรุ่นบุกเข้าทำลาย และขโมยของร้านค้าย่านเอนฟิลด์, บริกซ์ตัน และอ๊อกซฟอร์ดเซอร์คัส โดยผู้สื่อข่าวอังกฤษรายงานว่า เหตุการณ์จลาจลในวันที่ 2 คล้ายมีการเตรียมการ ผ่านการติดต่อทางโลกไซเบอร์ ซึ่งรวมถึงโทรศัพท์มือถือแบล็คเบอร์รี่

แต่เหตุการณ์ช่วงเย็นเมื่อวานนี้ การจลาจลแพร่กระจายออกนอกกรุงลอนดอน ไปอีกหลายเมืองทั้งลิเวอร์พูล, เบอร์มิงแฮม และบริสตอล ขณะที่ระดับความรุนแรงได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นการปล้นสะดม และลอบวางเพลิง โดยล่าสุด เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้แล้วราว 334 ราย

ปัจจัยที่ส่งผลให้ความรุนแรงบานปลายอาจมองได้จากหลายลักษณะ แต่จากการที่เหตุจลาจลแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และรูปแบบการก่อเหตุที่มุ่งเน้นสร้างความเสียหาย รวมถึงปล้นสะดม ซึ่งต่างก็ไม่เกี่ยวข้อง หรือมีนัยยะเรียกร้องความเป็นธรรมให้มาร์ก ดักเกน จึงอาจพอมองได้ว่า เหตุการณ์จลาจลขณะนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับการตายของดักเกนโดยตรง

ที่น่าสนใจคือประเด็นปัญหาเศรษฐกิจ ที่กำลังรุมเร้าชาวอังกฤษอย่างหนัก ซึ่งหากนำไปประกอบกับจุดที่เกิดเหตุความรุนแรง ทั้งในย่านครอยดอน, แฮกนีย์, บริกซ์ตัน และในเมืองอื่นๆ เช่นเบอร์มิงแฮม ที่นอกจากจะเป็นย่านที่มีสถิติอาชญากรรมและปัญหาสังคมเกิดขึ้นอยู่สูง บางย่านยังมักเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนชั้นล่าง รวมถึงผู้อพยพ ที่ต้องแบกรับปัญหาพิษเศรษฐกิจหนักกว่ากลุ่มคนชนชั้นอื่น วิกฤติจลาจลในประเทศอังกฤษ จึงอาจเป็นหนึ่งในตัวอย่าง การปะทุของปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่เรื้อรังมานาน โดยมีการตายของมาร์ก ดักเกน เป็นเพียงตัวจุดชนวนเท่านั้น




J

วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วินาศกรรมนอร์เวย์จากฝีมือของคนทั้งสังคม




แอนเนอร์ส เบห์ลิง เบรวิก ชายชาวนอร์เวย์วัย 32 ปี ผู้ต้องหาคดีวินาศกรรม 2 ครั้งซ้อน ในประเทศนอร์เวย์ ถูกนำชื่อไปพ่วงโยงกับ แถลงการณ์ 2083: A European Declaration of Independence หรือ ปี 2083 การประกาศอิสรภาพของยุโรป แถลงการณ์ที่มีเนื้อหาเชื่อมโยงไปถึงแรงจูงใจในการก่อเหตุโศกนาฏกรรม รวมถึงวิธีการและขั้นตอนเบื้องต้นในการปฏิบัติงาน

สื่อมวลชนต่างชาติวิเคราะห์ว่า แถลงการณ์ 2083: A European Declaration of Independence คือหัวใจหลักสำคัญอีกประการ ที่จะทำให้เข้าใจความคิดเบื้องหลังของ แอนเนอร์ส เบห์ลิง เบรวิก นอกจากคำให้การที่เขากล่าวต่อศาลนอร์เวย์ ซึ่งแม้ตามชื่อปกของแถลงการณ์ดังกล่าวจะมีชื่อผู้เขียนว่า แอนดรูว์ เบอร์วิค แต่คนเขียนได้กล่าวถึงตัวเองในภายหลังว่าชื่อ แอนเนอร์ส เบห์ลิง เบรวิก และแม้จะไม่มีใครสามารถกล่าวยืนยันได้ว่าแถลงการณ์ 2083: A European Declaration of Independence หรือคลิปวิดีโอเกี่ยวกับแถลงการณ์ ความยาว 12 นาทีในยูทูป เป็นฝีมือของแอนเนอร์ส เบห์ลิง เบรวิก แต่หากมองถึงรายละเอียดก็อาจจะพอสังเกตได้ถึงความเชื่อมโยง

เอกสารความยาวกว่า 1,500 หน้า มีเนื้อหาใจความหลักกล่าวถึงการต่อต้านชาวมุสลิมในยุโรป และวัฒนธรรมมาร์กซิสม์ ที่ยังฝังรากลึกอยู่ในระบบสังคมโลก โดยแถลงการณ์เริ่มต้นว่า ภายในปี 2050 ประชากรส่วนใหญ่ของชาวยุโรปทั้งหมด จะเป็นพวกมุสลิม นอกจากเราจะเริ่มต้นขั้นตอนการล้มล้างกลุ่มพวกสนับสนุนความหลากหลายทางวัฒนธรรม

แถลงการณ์ 2083: A European Declaration of Independence แสดงให้เห็นความเป็นนักอนุรักษ์นิยมและการเหยียดผิว โดยเฉพาะมุสลิมอย่างสุดโต่ง ทั้งการวิจารณ์เหตุการณ์สังหารโหดในสงครามโคโซโว และขับไล่พวกมุสลิมชาวอัลเบเนียนกลับประเทศ เมื่อปี 1999 ว่าเป็นสิ่งที่ชอบธรรม หรือวิพากษ์ว่า การมอบรางวัลโนเบล ให้กับยัสเซอร์ อาราฟัต ผู้นำชาวปาเลสไตน์ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

ผู้เขียนยังได้กล่าวถึงปี 2083 ว่า จะเป็นปีซึ่งสงครามกลางเมืองในยุโรปจบลง พร้อมความพ่ายแพ้ของวัฒนธรรมมาร์กซิสม์ รวมถึงการเนรเทศชาวมุสลิมทั้งหมด ขณะที่วิดีโอเกี่ยวกับแถลงการณ์ 2083 ที่โพสในยูทูป มีภาพของแอนเนอร์ส เบห์ลิง เบรวิก ในชุดนาวิกโยธินสหรัฐฯ และตราไม้กางเขน, อัศวัน รวมถึงสัญลักษณ์ขององค์กรใต้ดิน ฟรีเมสัน ขณะที่อีกภาพเป็นแอนเนอร์ส เบห์ลิง เบรวิก ถือปืนไรเฟิล และสวมชุดที่มีข้อความตรงไหล่ว่า 'นักล่ามาร์กซิสต์'

โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในนอร์เวย์ ที่คร่าชีวิตผู้คนบริสุทธิ์ไปร่วมหนึ่งร้อยราย พอจะบอกอะไรแก่เราได้บ้าง การต่อสู้ที่จำเป็นในขณะนี้ อาจไม่ใช่สงครามระหว่างโลกตะวันตกกับชาวมุสลิม แต่แท้ที่จริงแล้ว มันเป็นเรื่องของการต่อสู้ระหว่างคนธรรมดา กับพวกไร้สติที่อ้างการกระทำทุกครั้งของตัวเอง ว่าเป็นไปตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า กลุ่มคนอย่างแอนเนอร์ส เบห์ลิง เบรวิก, กลุ่มคลั่งชาติ, ซ้ายและขวาจัด, คริสเตียนและมุสลิมหัวรุนแรง คือผลผลิตของสังคมที่ผิดเพี้ยน จนทำให้บุคคลกลุ่มนี้ มีลักษณะร่วมคล้ายกันบางประการ โดยเฉพาะอาการหวาดกลัว 'ความแตกต่าง' เนื่องจากสิ่งนี้ มักนำมาซึ่งความรู้สึกไม่ปลอดภัย

เหตุการณ์วินาศกรรมที่นอร์เวย์ ไม่ได้เกิดขึ้นจากฝีมือของคนๆเดียว แต่มันเป็นผลมาจากการสั่งสมและปลูกฝังความคิดความเชื่อผิดๆบางประการ ที่ 'คนทั้งสังคม' ควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบ โดยไม่ใช่ด้วยการกำจัดให้ 'หายไป' แต่ต้องให้ 'การรักษา' เพื่อความเข้าใจร่วมกันว่า เราสามารถยืนอยู่ด้วยกันได้ แม้บน 'ใจ' ที่มีความแตกต่าง





J

วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554

น้ำตาที่ยังไหลกับสันติภาพที่ยังมองไม่เห็นของซีเรีย




แล้วบาชาร์ อัล อัสซาด ผู้นำเรีย ก็ตัดสินใจใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดเข้าจัดการกับกลุ่มผู้ประท้วงในเมืองฮามา เช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่พ่อของเขาผู้เคยปกครองซีเรีย ใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงชาวซุนหนี่ เมื่อปี 2525 จนเป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตนับหมื่นราย

ในเหตุการณ์ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้ประท้วงทั่วประเทศ ตามคำสั่งของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อาซาด เมื่อวานนี้ ส่งผลให้มีประชาชนเสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 140 ราย และได้รับบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน โดยที่เมืองฮามาเพียงเมืองเดียว แหล่งข่าวท้องถิ่นให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างชาติว่า มีคนตายประมาณ 115 คน

เนื่องจากปัญหาที่ทางการซีเรียปิดกั้นการเข้าติดตามสถานการณ์ของสื่อต่างชาติ ทำให้การยืนยันตัวเลขและผลกระทบที่เกิดจากการเคลื่อนรถถังเข้าไปในเมืองฮามา เป็นไปอย่างยากลำบาก โดยการใช้กำลังเข้าสังหารหมู่ในเมืองฮามานี้ เกิดขึ้นภายหลังการชุมนุมของประชาชนจำนวนกว่า 500,000 คน เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งต้องการให้ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาดลงจากตำแหน่ง

ขณะที่สื่อต่างชาติวิพากษ์วิจารณ์ถึงสาเหตุที่เมืองฮามา กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ทางการซีเรียให้ความสำคัญในการล้อมปราบกลุ่มผู้ประท้วง ก็เนื่องมาจากจำนวนผู้ประท้วงในเมืองที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล จนฮามากลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้าน ด้านนักพิทักษ์สิทธิมนุษยชนรายงานว่า นับตั้งแต่การประท้วงต่อต้านรัฐบาลซีเรียเริ่มต้นขึ้น มีประชาชนเสียชีวิตแล้วทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 1,700 ราย และได้รับบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนหลายพันคน ซึ่งตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา แม้บาชาร์ อัล อัสซาด จะออกแถลงการณ์เตรียมปฏิรูปประเทศ แต่ก็ยังไม่ตรงกับความต้องการของประชาชนที่ยืนยันเรียกร้อง ประชาธิปไตยและเสรีภาพ

ข้อเรียกร้องที่ยังมีปัญหาก็เช่น การลงจากตำแหน่งของบาชาร์ อัล อัสซาด ผู้นำซีเรียแสดงออกอย่างชัดเจนว่า ไม่มีทางปฏิบัติตามข้อเรียกร้องนี้ ยุติกฏหมายสถานการณ์ฉุกเฉินที่ใช้มากว่า 48 ปี ทางการซีเรียมีคำสั่งยกเลิกตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม เมื่อวันที่ 21 เมษายน แต่เหตุการณ์หลังจากนั้นกลับตามมาด้วย การสังหารประชาชนกว่า 1,300 ราย และจับกุมผู้ประท้วงหลายหมื่นคน

ความรุนแรงที่เพิ่มระดับมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้หลายฝ่ายเริ่มหันไปมองท่าทีของนานาชาติ แต่นับจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีคำสั่งประกาศใช้มาตรการบทลงโทษที่เข้มข้นกับผู้นำซีเรีย หรือการส่งกำลังทหารเข้าแทรกแซงช่วยเหลือประชาชน โดยสาเหตุหลัก เชื่อกันว่า เป็นเพราะการเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางด้านความมั่นคงในโลกอาหรับ และความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของผู้นำซีเรียกับประเทศเพื่อนบ้าน

ซีเรียถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากในโลกตะวันออกกลาง เนื่องจากการเป็นชาติที่มีคณะผู้ปกครองเป็นชาวชีอะห์ เช่นเดียวกับอิหร่าน ชาติพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ, อิสราเอล และซาอุดิอาระเบีย ซึ่งความไม่แน่นอนที่อาจบานปลายไปเป็นการล่มสลายของระบบการปกครองแบบอัสซาด ย่อมส่งผลโดยตรงต่อเสถียรภาพและสันติภาพ

หลายฝ่ายเชื่อว่า หากบาชาร์ อัล อัสซาด ยอมลงจากอำนาจ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการแย่งชิงอำนาจจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง ซึ่งหากการเปลี่ยนแปลงขั้วการเมืองนั้น กลุ่มชีอะห์เป็นฝ่ายพ่ายแพ้  ความรุนแรงระหว่างอาหรับ กับประเทศที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาอย่างอิสราเอล อาจลุกโชนขึ้นมาอีกครั้ง เพราะขาดตัวกลางที่เชื่อมความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านชาตินิกายชีอะห์ ผู้มีอำนาจในการปกครองกลุ่มคนนิกายอื่นๆในประเทศของตน อย่างบาชาร์ อัล อัสซาด

สถานการณ์ความขัดแย้งในซีเรียจึงเป็นเรื่องที่มีความละเอียดซับซ้อน และรอคอย 'ปรากฏการณ์' บางอย่างที่จะมายุติเรื่องราวทั้งหมด โดยหวังได้แต่เพียงว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจะนำมาซึ่งสันติภาพของโลก และจบการเข่นฆ่าของเพื่อนมนุษย์





J