วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554

'ชนวน' จลาจลอังกฤษ



จากเหตุการณ์ 'น้ำผึ้งหยดเดียว' เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจวิสามัญฆาตกรรมมาร์ก ดักเกน ชายชาวอังกฤษวัย 29 ปี บานปลายกลายเป็นปัญหาระดับประเทศ ด้วยเหตุลอบวางเพลิง และจลาจลในหลายเมืองของเกาะอังกฤษ

ทางการอังกฤษเตรียมส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 13,000 นาย เข้าประจำการในกรุงลอนดอน เพื่อควบคุมการจลาจล ที่อาจจะเกิดขึ้นเป็นคืนที่ 4 หลังเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวานนี้ ขยายจากทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน ไปทางตอนใต้ในเขตครอยดอน และอีกหลายเมืองทั้งเบอร์มิงแฮม, ลิเวอร์พูล, นอตติ้งแฮม และบริสตอล บ้านเรือนร้านค้าได้รับความเสียหายหลายหลัง ทั้งจากการบุกเข้าทำลายขโมยข้าวของ และการวางเพลิง

การประท้วงครั้งแรกเริ่มต้นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา หลังการเสียชีวิตของมาร์ก ดักเกน โดยครอบครัวและสมาชิกชุมชนท้องถิ่นราว 120 คน เดินชุมนุมบนถนนย่านท็อตแนม เพื่อเรียกร้องให้ทางการเปิดเผยสาเหตุการวิสามัญคุณพ่อลูกสี่วัย 29 ปี แต่การเดินประท้วงอย่างสงบ จบลงในช่วงค่ำด้วยความรุนแรง เมื่อกลุ่มวัยรุ่นบุกเข้าทุบรถตำรวจ และขโมยข้าวของในร้านค้าบริเวณดังกล่าว ขณะที่เจ้าหน้าที่กล่าวว่า เหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นเนื่องจากกลุ่มคนนอก ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ฉวยโอกาสร่วมผสมโรงก่อความวุ่นวาย

ช่วงเย็นวันอาทิตย์ เหตุการณ์ลักษณะเดียวกันเกิดขึ้น เมื่อกลุ่มอันธพาลวัยรุ่นบุกเข้าทำลาย และขโมยของร้านค้าย่านเอนฟิลด์, บริกซ์ตัน และอ๊อกซฟอร์ดเซอร์คัส โดยผู้สื่อข่าวอังกฤษรายงานว่า เหตุการณ์จลาจลในวันที่ 2 คล้ายมีการเตรียมการ ผ่านการติดต่อทางโลกไซเบอร์ ซึ่งรวมถึงโทรศัพท์มือถือแบล็คเบอร์รี่

แต่เหตุการณ์ช่วงเย็นเมื่อวานนี้ การจลาจลแพร่กระจายออกนอกกรุงลอนดอน ไปอีกหลายเมืองทั้งลิเวอร์พูล, เบอร์มิงแฮม และบริสตอล ขณะที่ระดับความรุนแรงได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นการปล้นสะดม และลอบวางเพลิง โดยล่าสุด เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้แล้วราว 334 ราย

ปัจจัยที่ส่งผลให้ความรุนแรงบานปลายอาจมองได้จากหลายลักษณะ แต่จากการที่เหตุจลาจลแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และรูปแบบการก่อเหตุที่มุ่งเน้นสร้างความเสียหาย รวมถึงปล้นสะดม ซึ่งต่างก็ไม่เกี่ยวข้อง หรือมีนัยยะเรียกร้องความเป็นธรรมให้มาร์ก ดักเกน จึงอาจพอมองได้ว่า เหตุการณ์จลาจลขณะนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับการตายของดักเกนโดยตรง

ที่น่าสนใจคือประเด็นปัญหาเศรษฐกิจ ที่กำลังรุมเร้าชาวอังกฤษอย่างหนัก ซึ่งหากนำไปประกอบกับจุดที่เกิดเหตุความรุนแรง ทั้งในย่านครอยดอน, แฮกนีย์, บริกซ์ตัน และในเมืองอื่นๆ เช่นเบอร์มิงแฮม ที่นอกจากจะเป็นย่านที่มีสถิติอาชญากรรมและปัญหาสังคมเกิดขึ้นอยู่สูง บางย่านยังมักเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนชั้นล่าง รวมถึงผู้อพยพ ที่ต้องแบกรับปัญหาพิษเศรษฐกิจหนักกว่ากลุ่มคนชนชั้นอื่น วิกฤติจลาจลในประเทศอังกฤษ จึงอาจเป็นหนึ่งในตัวอย่าง การปะทุของปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่เรื้อรังมานาน โดยมีการตายของมาร์ก ดักเกน เป็นเพียงตัวจุดชนวนเท่านั้น




J

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น