เหตุการณ์สะเทือนขวัญ ที่นายโมฮัมเหม็ด บูอาซีซี่ พ่อค้าขายผักผลไม้ชาวตูนีเซียจุดไฟเผาร่างกาย ประท้วงกลุ่มผู้ปกครองประเทศ หลังถูกตำรวจเข้ายึดแผงขายผัก ได้ลุกลามไปเป็นการรวมตัวประท้วงคณะรัฐบาลครั้งใหญ่ของกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และคนยากจน จนส่งผลให้ในท้ายที่สุด ประธานาธิบดีเบน อาลี ผู้ปกครองชาวตูนีเซียนมาอย่างยาวนานกว่า 23 ปี ถูกขับไล่ออกจากประเทศ
พฤติกรรมของนายโมฮัมเหม็ด บูอาซีซี่ ที่เสียชีวิตภายหลังเกิดเหตุหนึ่งอาทิตย์ต่อมา กลายไปเป็นพฤติกรรมต้นแบบของการประท้วงรัฐบาล ในกลุ่มประเทศโลกอาหรับ โดยนับถึงปัจจุบันมีประชาชนพยายามก่อเหตุจุดไฟเผาตัวเองในที่สาธารณะเป็นจำนวนแล้วถึง 10 ราย ทั้งใน แอลจีเรีย อียิปต์ เยเมน และมอริเตเนีย เนื่องมาจากสภาพปัญหาสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ สวนทางกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น
สาเหตุที่เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบในหมู่ประชาชนชาวอาหรับนั้น อาจเป็นเพราะผลสำเร็จของการประท้วงในประเทศตูนีเซีย ทำให้การแสดงออกลักษณะนี้ กลายมาเป็นตัวอย่างหนึ่งในรูปแบบของการประท้วงให้ได้รับชัยชนะ ทั้งที่ในความเป็นจริง สถานการณ์และบริบทที่ต่างกัน ย่อมนำมาซึ่งผลสำเร็จที่ไม่เหมือนกัน
และจะเป็นไปได้ไหม ถ้าเราจะเชื่อว่าทางออกที่แท้จริง คือการรวมตัวชุมนุมเรียกร้องของมวลชนอย่าง 'สันติวิธี' เพื่อกดดันให้รัฐบาลหันมาให้ความสนใจแก้ไขปัญหา มากกว่าการเสียสละชีวิตของ 'ตัวเอง' หรือสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรง เนื่องจากไม่มีหลักประกันใดๆทั้งสิ้น ที่จะยืนยันได้ว่า เมื่อเกิดความ 'สูญเสีย' แล้วจะเกิดการ 'เปลี่ยนแปลง'
อย่างไรก็ตาม การประท้วงโดยพยายามจุดไฟเผาตัวเอง หรือที่เรียกว่า เซลฟ์ อิมโมเลชั่น นั้น ไม่ได้พึ่งเคยเกิดขึ้นในกรณีของพ่อค้าชาวตูนีเซียนเป็นคนแรก หรือเป็นเพียงวัฒนธรรมการก่อความไม่สงบของชาวอาหรับ
เพราะก่อนหน้านี้เมื่อปีที่แล้ว ก็เคยเกิดเหตุการณ์ในลักษณะทำนองเดียวกัน ทั้งในประเทศจีน ปากีสถาน รวมถึงเกาหลีใต้ และถ้าย้อนกลับไปในอดีต ทั้งเวียดนาม และประชาชนในสหภาพโซเวียต ก็เคยมีการจุดไฟเผาตัวเองเพื่อเรียกร้องความสนใจจากทางคณะผู้ปกครองเช่นกัน
ขณะที่ในข้อเขียนของหลักศาสนาพุทธ กล่าวถึง ความพยายามในการฆ่าตัวตาย เช่น การอดอาหาร หรือการจุดไฟเผาร่างกายนั้น เป็นตัวอย่างของผู้ที่ดูหมิ่นโอกาสในการมีชีวิต และสติปัญญาของตัวเอง
เช่นเดียวกับบทบัญญัติในเกือบทุกศาสนา ทั้งพราหมณ์, คริสต์หรืออิสลาม ซึ่งโดยมากมักไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมการฆ่าตัวตาย แต่น่าเสียดายที่ประเด็นนี้ มักถูกนำไปใช้ตีความอย่างบิดเบือน จนบานปลายกลายเป็นพฤติกรรมการเลียนแบบ และนำมาซึ่งเหตุการณ์ที่น่าสลดใจอยู่เสมอ
คำถามคือแม้บางครั้งปลายทางจะเป็นไปตามความประสงค์ แต่เราควรจะมอง 'ผลลัพธ์' โดยไม่สนใจ 'ระหว่างทาง' เลยหรือไม่ ขณะเดียวกันกับ 'สิ่งที่เกิดขึ้น' คุ้มค่ากับการ 'สูญเสีย' ของใครหรือเปล่า
บางครั้งการเดินทางที่ไปถึง 'ความเปลี่ยนแปลง' ด้วยวิธี 'สันติ' อาจต้องใช้เวลานานนับปี แต่มันอาจจะ 'คุ้มค่า' สำหรับการเลือกเดินในระยะทางที่ไกลกว่า แต่ 'เราทุกคน' สามารถก้าวเดินไปถึงจุดหมายปลายทางได้พร้อมๆกัน
J
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น