ปาโบล ปิกัสโซ่ และ อ็องรี มาติส เคยกล่าวถึง พอล เซซานน์ ว่า คือ 'บิดาของผองเรา' คำนิยามของยอดศิลปินทั้งสอง เป็นคำที่สรุปความสำคัญของจิตรกรฝรั่งเศสผู้นี้ ได้อย่างชัดเจนที่สุด
ชีวิตของ พอล เซซานน์ เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม ปี 1839 ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ วันนี้จะเป็นวันครบรอบวันคล้ายวันเกิดปีที่ 172 พอดิบพอดี ชีวิตเล็กๆนี้ จากไปกว่าร้อยปีแล้ว
'จิตรกรอัจฉริยะ' ชาวฝรั่งเศษรายนี้ โด่งดังในการทำงานศิลปะแนวโพสท์ อิมเพรสชันนิสม์ และเชี่ยวชาญในการเขียนภาพสีน้ำมัน โดยงานของเขาได้รับการยกย่องว่าเป็นรูปแบบของการเชื่อมต่อระหว่างศิลปะรูปแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ และคิวบิสม์
งานของพอล เซซานน์ โดดเด่นในเรื่องการรังสรรค์องค์ประกอบของภาพ, สีและน้ำหนัก รวมถึงการลงลายร่างภาพ โดยลักษณะเด่นของวิธีการเขียนภาพของเซซานน์นั้น จะใช้ระยะการลงฝีแปรงที่สั้นๆ ซ้ำๆ และเบาๆ เพื่อสร้างความซับซ้อนของลวดลาย ซึ่งให้ผลเป็นการสื่ออารมณ์ของรูปทรง 'นามธรรม' // ขณะเดียวกัน ภาพของเซซานน์จะเน้นการศึกษา เพื่อค้นหาวิธีที่จะจัดการกับความซับซ้อน ในกระบวนการรับรู้และมองเห็นของมนุษย์
งานชิ้นสำคัญของเซซานน์ ก็มีทั้ง The Bathers ซึ่งเป็นภาพเขียนสีน้ำมันขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่ม ภาพชุด Bather // ถูกนำออกมาจัดแสดงครั้งแรกในปี 1907 และได้รับการยกย่องว่าเป็น หนึ่งในผลงานชิ้นเอกของโลกศิลปะสมัยใหม่
หรืองาน Study: Landscape at Auvers ที่จัดแสดงครั้งแรกในปี 1873 ซึ่งภาพนี้เป็นภาพที่ได้รับคำชมเชยมากที่สุดจากบรรดาเหล่านักวิจารณ์ ในการจัดแสดงภาพครั้งแรกของเซซานน์ จึงคล้ายเป็นเหมือนภาพที่วางหลักไมล์ในวงการศิลปะให้กับเขา
ตลอดชีวิตการทำงานศิลปะ ผลงานของเซซานน์ได้รับความนิยม ในกลุ่มผู้เสพศิลปะชาวฝรั่งเศษอยู่พอประมาณ ตราบจนกระทั่งวันที่เขาเสียชีวิต งานของเขาจึงเริ่มแพร่หลายออกไปเป็นที่รู้จักในหลายประเทศทั่วยุโรป และกลายเป็น 'ต้นน้ำ' ของลักษณะศิลปะแนวโพสท์ อิมเพรชชั่นนิสม์ และคิวบิสม์ ในเวลาต่อมา
พอล เซซานน์ เป็นอีกบุคคลหนึ่ง ที่มี 'ชื่อเสียง' ตามมาหลังการมี 'ชีวิต' โดยเมื่อปี 1863 งานศิลปะของเขา เคยถูก 'เซลอง' หอศิลป์ชื่อดังในอดีต จัดแสดงงานรวมไว้ในหมวด 'งานศิลปะที่ไม่ได้รับการยอมรับ' และปฏิเสธที่จะนำงานของเขาร่วมจัดแสดงในห้องภาพ 'ทุกปี' ตั้งแต่ปี 1864 - 1869 ก่อนที่ ปี 1882 เซลองจะยอมรับงานของเซซานน์ เข้าร่วมจัดแสดงเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย
เซซานน์เสียชีวิตขณะมีอายุ 67 ปี ด้วยโรคปอดบวม ซึ่งแม้เวลาจะผ่านไปถึง 172 ปี นับจากวันที่เขาเกิด แต่วันนี้ ก็ยังมีผู้ที่ศึกษาและกล่าวถึง 'พอล เซซานน์' อยู่อย่างกว้างขวาง ซึ่งคงไม่มากจนเกินไป หากจะกล่าวว่า อีก 105 ปี ที่ทำให้เขา 'คล้าย' มีชีวิตนั้น เป็นเพราะ 'ผลงาน' ในสิ่งที่เขาทำ
เรื่องราวของพอล เซซานน์ ทำให้นึกไปถึงคำพูดหนึ่ง ของบิดาแห่งศิลปินไทย ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ว่า 'Ars longa, vita brevis' หรือ 'ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น'
J
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น