จากรายงานขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ องค์การนาซา และหน่วยงานดูแลมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศสหรัฐฯ หรือ เอ็นโอเอเอ (NOAA) มีข้อสรุปที่มีความเห็นค่อนข้างตรงกันว่า ค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิตลอดปี 2553 นั้น เป็นปีที่มีอุณหภูมิสูงที่สุด ในบันทึกของอุณหภูมิโลก
โดยบันทึกสถิติอุณหภูมิโลกนั้น สามารถย้อนหลังกลับไปได้ถึงปี 2423 ซึ่งจากข้อสรุปที่เพิ่งได้รับการเปิดเผยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาพบว่า ปี 2553 นั้น ระดับอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีสูงกว่าค่ามาตราฐานกลางไป 0.62 องศาเซลเซียส เท่ากับปี 2548 ที่ 'เคย' เป็นปีที่มีค่าเฉลี่ยอุณหภูมิสูงที่สุด
ขณะที่ถ้าเทียบกันถึงหลักของตัวเลขจุดทศนิยม ปี 2553 จะก้าวขึ้นครองตำแหน่ง ด้วยตัวเลขมากกว่าฉิวเฉียดไม่ถึง 0.001 องศาเซลเซียส
ทั้งที่ เมื่อปี 2553 เป็นปีที่ปริมาณแสงอาทิตย์ ตกกระทบมาสู่โลก 'น้อย' ที่สุดในรอบเกือบศตวรรษ จากผลกระทบของจุดบอดบนดวงอาทิตย์ ขณะเดียวกับที่ครึ่งปีหลัง เกิดปรากฏการณ์ลานีญาขึ้น ซึ่งมีความหมายว่า ผิวน้ำทะเลแถบตอนกลางและตะวันออกของแปซิฟิก บริเวณเขตศูนย์สูตรจะมีระดับอุณหภูมิ 'ต่ำ' กว่าปกติ
โดยตัวเลขอุณหภูมิที่สูงขึ้นในปี 2553 นั้น สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนที่กำลังก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ โดยดึงตัวเลขเฉลี่ยของอุณหภูมิโลกให้เพิ่มสูงขึ้น ทั้งที่มีเหตุและปัจจัยหลายประการ ที่เอื้อให้การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกควรเปลี่ยนไปในลักษณะที่ลดต่ำลง
ถึงปัจจุบัน อาจยังไม่มีใครสามารถออกมาชี้แจง แยกแยะข้อดี ข้อเสีย รวมถึงแสดงหลักฐานที่เป็นรูปธรรมว่า ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลที่เรากำลังเผชิญหน้า เกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่เราเรียกว่า 'สภาวะโลกร้อน'
แต่สิ่งที่เห็นและเป็นไปในขณะนี้กับสถานการณ์และบรรยากาศโลกรอบตัว คงพอจะบอกอะไรบางอย่างกับเราได้ว่า อนาคตของสิ่งที่มนุษยชาติกำลังจะต้องเผชิญนั้น อาจไม่ใช่เพียงแค่การติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอีกต่อไป
J
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น