'Moral Hazard' ตามพจนานุกรมศัพท์ประกันภัย อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2540 แปลความหมายว่า 'ภาวะภัยทางศีลธรรม' หรือที่นักเศรษฐศาสตร์บางท่านแปลเป็นไทยว่า 'จริยวิบัติ' โดยได้ปรากฏขึ้นครั้งแรกๆในงานของ McKinnon and Pill (1996) ซึ่งมีเนื้อหานิยามถึง 'พฤติกรรมเบี่ยงเบน' ของคน ที่มีลักษณะไปในทางที่ไม่ดีหรือสร้างความเสี่ยงเพิ่มขึ้น หลังจากเข้าไปอยู่ในโครงการใดโครงการหนึ่ง
ยกตัวอย่าง เช่น ผู้ทำประกันภัยรถยนต์ ขับรถเสี่ยงอันตรายมากขึ้น เพราะเชื่อว่าตนจะได้รับการคุ้มครองจากกรมธรรม์ หรือผู้บริหารในองค์กรรัฐวิสาหกิจ จะนำธุรกิจของตนลงแข่งในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากเชื่อว่า เมื่อเกิดปัญหา จะยังได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ เป็นต้น
ขณะที่ในประเทศไทย Moral Hazard กลายเป็นหัวข้อสนทนา ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 1997 โดยเฉพาะภายหลังต้องปฏิบัติตามแนวทางของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ที่บังคับไม่ให้ภาครัฐเข้าแทรงแซง ช่วยเหลือสถาบันการเงินหรือธุรกิจเอกชนใดๆที่มีปัญหา เนื่องจากเกรงว่าอาจกลายเป็นต้นเหตุของ 'จริยวิบัติ' โดยเป็นตัวอย่างให้บริษัทอื่นๆ บริหารจัดการองค์กรในความเสี่ยง อย่างไม่กลัวล้มละลาย เนื่องจากเมื่อเกิดปัญหาใดๆขึ้น รัฐก็จะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ
แต่ผลของมาตรการจากไอเอ็มเอฟ ที่พยายามสร้างช่องว่างระหว่างรัฐและเอกชน กลับสร้างปัญหาใหม่เช่น กรณีที่สถาบันการเงินของไทย 56 สถาบันต้องปิดกิจการ แต่ไม่สามารถประนอมหนี้กับลูกหนี้ได้ และถ้าจะขาย ก็จำเป็นต้องขายในรูปแบบการประมูล ซึ่งจำกัดสิทธิของกลุ่มลูกหนี้ หรือบรรษัทบริหารสินทรัพย์ ที่รัฐจัดตั้งขึ้นมา
เนื่องจากไอเอ็มเอฟมองว่า การเข้าแทรกแซงทั้งการเจรจาประนอมหนี้ หรือเข้าร่วมประมูลของลูกหนี้และบสท. จะทำให้ไม่ทราบ 'ราคาตลาดที่แท้จริง'
ท้ายที่สุด ผลของการขายประมูลทรัพย์สินสถาบันการเงินทั้งหมดกว่า 800,000 ล้านบาท จึงได้คืนกลับมาเป็นเม็ดเงินไม่ถึงร้อยละ 30 และหลังจากนั้น ผู้ที่ประมูลได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอกชนต่างชาติ ก็นำมาขายต่ออีกทอดให้กับลูกหนี้ ซึ่งกรณีนี้ไม่ถือเป็น 'จริยวิบัติ' เนื่องจากเอกชนเป็นชาวต่างชาติ ที่ไม่ได้มาจากทางราชการ
ในขณะที่กลุ่มประเทศโลกตะวันตกโดยมาก ยามเกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ภาครัฐมักจะอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปในระบบอย่างเร่งด่วน เพราะเป็นวิธีการที่รวดเร็วที่สุด ในการแก้ไขปัญหาหนี้เสีย รวมถึงปัญหาการปรับโครงสร้างธนาคาร โดยการกระทำที่เกิดขึ้น กลับไม่ถูกกล่าวหาว่าเป็น 'จริยวิบัติ'
ส่งผลให้ในการประชุมสภาผู้ว่าการของธนาคารโลก และกองทุนระหว่างประเทศ เมื่อปี 2002 ไอเอ็มเอฟได้ออกมากล่าวยอมรับความผิดพลาด รวมถึงเสนอให้การแก้ไขปัญหาด้านการเงินในอนาคต ต้องเพิ่มความยืดหยุ่นในการให้คำแนะนำ
อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ของสถาบันการเงินไมโครไฟแนนซ์ ก็มีประเด็นที่ถกเถียงเกี่ยวกับ 'จริยวิบัติ' นี้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะความจำเป็นที่ภาครัฐควรนำเงินเข้าไปอุดหนุนหรือช่วยเหลือสถาบันการเงินเพื่อคนจน ด้วยเจตนาดีหวังสร้างโอกาสให้ 'ทุน' สามารถตกไปถึงมือของคนยากไร้ในวงที่กว้างขึ้น 'หรือไม่?'
แต่ความเป็นจริงของการนำเม็ดเงินอุดหนุนลงไปในสถาบันการเงินเหล่านี้ อาจส่งผลให้เกิดความสุ่มเสี่ยงของ 'Moral Hazard' หรือสถานการณ์ที่ประชาชนจะถูก 'บิดเบือน' ความคิด ว่า 'ทุน' ที่ตัวเองได้รับมานั้น คือ 'เงินให้เปล่า' จากทางภาครัฐ ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาการนำเงินไป 'ใช้จ่าย' โดยไม่คิดถึงวิธีการหาทาง 'ใช้คืน'
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเกิดปัญหาที่เรียกว่า 'จริยวิบัติ' ขึ้นในสังคมไหนแล้ว ค่านิยมที่ถูกสร้างขึ้น จะนำมาซึ่งการชะงักงันของ 'การพัฒนา' เมื่อประชาชนต่างรอคอยเพียงความช่วยเหลือจากทางราชการ
ขณะเดียวกับที่การให้ทุนในธุรกิจเพื่อคนยากไร้ อาจถูกทำลายพันธกิจ 'เพื่อสังคม' ไปเป็นเพียง 'เครื่องมือ' หาเสียง ที่นักการเมืองไร้ความรับผิดชอบหลายคนชอบใจ เพราะได้ผล 'เร็ว' และ 'แรง' แต่แทบจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในสังคมระยะยาว
ดังนั้นการลงทุนใน 'คน' ของสถาบันการเงินเพื่อผู้ยากไร้ จึงจำเป็นต้องมีนโยบายเกี่ยวกับการกำกับแนวทางของตัวเอง ในลักษณะธุรกิจที่หวังผลกำไร และพยายามหลีกเลี่ยงเม็ดเงินบริจาคจากทางภาครัฐ หรือหน่วยงานองค์กรการกุศล ซึ่งอาจก่อให้เกิดทัศนคติของประชาชนที่ผิดเพี้ยน ดังที่ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส บิดาแห่งสถาบันไมโครไฟแนนซ์ เคยกล่าวถึงข้อควรระวังนี้เอาไว้
Moral Hazard หรือจริยวิบัติ จึงเป็นเรื่องของ 'วิสัยทัศน์' ว่ากลุ่มผู้บริหารประเทศหรือองค์กรต่างๆ จะสามารถเข้าใจวิกฤติปัญหา และนำ 'ยา' มาใช้ได้ถูกกับ 'โรค' ที่ตัวเองกำลังเผชิญได้ถูกต้องแม่นยำขนาดไหน ไม่เช่นนั้นก็คงจำเป็นต้องทำใจกับการจ่าย 'ค่าโง่' ซึ่งอาจจะเป็น 'เงิน' หรือ 'คน' อยู่ร่ำไป
โดยที่กล่าวว่าต้อง 'ทำใจ' นี้ ไม่ได้หมายถึงใคร หากแต่เป็นประชาชนตาดำๆ อย่างเราๆท่านๆนี่เอง
J
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น