วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554

ที่มาของ 'กรามีน' ธนาคารคนจน



ธนาคาร 'กรามีน' อาจไม่ใช่ชื่อที่คุ้นหูคนไทยนัก แต่ถ้าเป็นในบังกลาเทศ ธนาคารนี้ คือชื่อที่เปรียบดังแสงสว่างของคนจนนับล้านคน

'กรามีน' เกิดจากสำนึกต่อการรับใช้สังคมของ ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส นักเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศ ผู้คว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ จากผลงานการก่อตั้งธนาคารกรามีน 'ธนาคารเพื่อผู้ยากไร้แห่งแรกของโลก'

ศาสตราจารย์ยูนุสเชื่อว่า คนจนควรมีสิทธิทำธุรกรรมทางการเงิน เช่นเดียวกับคนในชนชั้นอื่นๆ ขณะเดียวกับที่ธนาคารพาณิชย์จะยอมปล่อยเงินกู้ออกมา ในกรณีที่ผู้กู้สามารถแสดงหลักทรัพย์ค้ำประกัน ตามข้อกำหนดของธนาคารเท่านั้น ซึ่งจาก 'ข้อกำหนด' ของธนาคาร กลายมาเป็น 'ข้อจำกัด' ของคนยากจน และส่งผลให้เกิดช่องทางของธุรกิจใหม่ที่เรียกว่า 'การกู้นอกระบบ' ที่ตามมาพร้อมด้วยดอกเบี้ยมหาโหด

ยูนุสตระหนักถึงความจำเป็นต่อวัฒนธรรมการกู้ของคนจน โดยเชื่อว่า 'เงินกู้เป็นความหวังสุดท้ายของผู้ยากไร้ที่สุดของสังคมที่ไม่มีทางเลือกอื่น' จึงพยายามร้องขอให้ธนาคารในบังกลาเทศ เปิดบริการสินเชื่อเพื่อผู้ยากไร้ และหวังให้ธนาคารเชื่อมั่นในศักยภาพของคนจน

โดยหลักประกันชั้นดีที่แสดงให้เห็นว่า คนเหล่านี้จะไม่ทำให้หนี้สูญ ก็คือการที่พวกเขา 'ยังมีชีวิตอยู่รอดได้จนถึงทุกวันนี้' ขณะเดียวกับเงินที่ได้มาจากการกู้ยืม จะกลายเป็นที่พึ่งสำคัญแห่งสุดท้าย ซึ่งทำให้พวกเขาไม่ต้องหันกลับไปหาเจ้าหนี้นอกระบบอีก ดังนั้นการเบี้ยวหนี้ จึงยากที่จะเกิดขึ้น นอกเสียจากคนเหล่านั้นจะ ไม่มีจริงๆ

แต่สุดท้าย ธนาคารในบังกลาเทศ ก็ยินยอมเพียงการปล่อยกู้ให้คนจนผ่านทางยูนุสในฐานะคนค้ำประกัน ซึ่งวิธีนี้ กลับสร้างความยุ่งยากให้กับตัวยูนุสเอง ที่ต้องไล่เซ็นเอกสารทุกใบ เนื่องจากธนาคารไม่ยอมติดต่อกับผู้กู้โดยตรง ทำให้ในที่สุด ยูนุสจึงเลิกหวังพึ่งพาระบบธนาคารพาณิชย์ และเริ่มก่อตั้ง 'ธนาคารกรามีน' แห่งแรก ในปี 1977 ด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านตากา หรือราว 50 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี เพื่อการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน ศาสตราจารย์ยูนุส วางระบบของกรามีน ในลักษณะ 'ธุรกิจที่หวังผลกำไร' แต่มี 'เป้าหมายเพื่อสังคม' โดยหลีกเลี่ยงการจัดรูปแบบองค์กรในลักษณะการกุศล เนื่องจากมองว่าการสนับสนุนเงินในรูปแบบการบริจาค จะทำให้เกิดการบิดเบือนแรงจูงใจของลูกหนี้ โดยในกรณีที่เมื่อผู้กู้คิดไปว่าเงินที่ได้รับมานั้น เป็น 'เงินให้เปล่า' จะทำให้พวกเขานำเงินไป 'ใช้จ่าย' มากกว่านำไป 'ลงทุน' ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

ขณะเดียวกัน เป้าหมายสูงสุดของกรามีนคือ 'สังคม' ไม่ใช่ 'ตัวเลขกำไร' ทำให้การบริการมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือคนจน โดยเฉพาะ 'ผู้หญิง' ในบังกลาเทศ ที่มักถูกกดขี่จากสถานะทางสังคม

โดยยูนุสต้องคิดค้นและพัฒนาวิธีการต่างๆ ทั้งการสร้างกระบวนการและกลไก ที่เอื้ออำนวยให้คนจนสามารถชำระหนี้ได้ เช่นการออกระบบอนุมัติเงินกู้แบบกลุ่ม โดยผู้กู้แต่ละคนมีหน้าที่ค้ำประกันซึ่งกันและกัน พร้อมกับใช้แรงกดดันทางสังคม เป็นแรงจูงใจให้ผู้กู้ชำระหนี้ให้ตรงเวลา เพราะทุกคนต้องชำระหนี้จนหมด ก่อนจะกู้เงินก้อนต่อไปได้

ทั้งนี้ ถ้าลูกหนี้คืนเงินกู้ตรงเวลาและมีเงินออมจำนวนหนึ่ง ก็สามารถซื้อหุ้นของธนาคารได้ โดยยูนุสจะจำกัดสิทธิให้ผู้ถือหุ้นของธนาคาร ต้องเริ่มต้นมาจากการเป็นลูกหนี้ก่อนเท่านั้น ซึ่งทำให้ธนาคารกรามีน มีลักษณะเป็น 'ธนาคารของคนจน' อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ธนาคารกรามีน ยังมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาความสามารถให้ลูกหนี้ลุกขึ้นยืนได้ด้วยตัวเอง รวมถึงสร้างทักษะการบริหารและวินัยทางการเงิน ทั้งการออกสินเชื่อการศึกษาดอกเบี้ยต่ำ หรือสินเชื่อการประมง รวมถึงออกข้อบังคับให้ลูกหนี้ออมเงินร้อยละ 5 ของเงินกู้ เพื่อเป็นกองทุนประกันชีวิต หรือกองทุนบำนาญต่างๆ

โดยยูนุชตั้งหลักวัด 'ดัชนีความจน' ในลักษณะที่ดูจากความต้องการพื้นฐานของชีวิต เช่น ต้องมีห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะ, น้ำดื่มที่สะอาด หรือมีเงินฝากออมอยู่ในธนาคาร การเป็นลูกหนี้ของธนาคารกรามีนจึงเป็นการสร้าง 'โอกาส' หลุดพ้นความจน มากกว่าเพียงการปล่อยเงินกู้

ปัจจุบัน ธนาคารกรามีน มีทรัพย์สินทั้งหมดจากการปิดยอดบัญชีเมื่อปี 2009 กว่า 103,000 ล้านตากา หรือประมาณ 46,000 ล้านบาท และมีสาขามากกว่า 2,500 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงให้บริการชาวบังกลาเทศเป็นจำนวนถึงเกือบ 8 ล้านคน โดยกว่าร้อยละ 97 เป็นผู้หญิง ขณะที่อัตราส่วนความเสี่ยงของหนี้เสียมีอยู่ประมาณ ร้อยละ 4.39




เอื้อเฟื้อข้อมูล อ.สฤณี อาชวานันทกุล




J

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น