วันจันทร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2554

การกลับมาของหน้ากากเสือ

กลายเป็นกระแสที่กำลังเป็นที่นิยมในประเทศญี่ปุ่น เมื่อผู้คนต่างพากันบริจาคสิ่งของไปให้เหล่าเด็กๆ ในสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า ตามปณิธานของวีรบุรุษนักมวยปล้ำในหนังสือการ์ตูนชื่อดัง 'หน้ากากเสือ'

ปรากฏการณ์นี้ เริ่มต้นขึ้นในวันคริสต์มาส โดยนาย ยาซุฮิโกะ ทานิกูชิ เจ้าหน้าที่ของสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งหนึ่ง กล่าวว่า มีผู้มาบริจาคกระเป๋านักเรียนให้เด็กๆ แต่ปฏิเสธที่จะให้ชื่อจริงของตัวเอง อย่างไรก็ตาม เขาทิ้งไว้เพียงกระดาษที่มีรูปวาดหน้ากากเสือ และข้อความที่เขียนว่า 'ฉันคือหน้ากากเสือ ฉันมาที่เมืองนี้ และฉันต้องการให้คุณช่วยเหลือฉันมอบของขวัญให้กับเด็กทุกคนในบ้านหลังนี้'

หลังจากที่ข่าวนี้ปรากฏทางสื่อต่างๆในประเทศญี่ปุ่น ผู้คนจำนวนมากต่างพากันทยอยส่งของบริจาคไปให้เด็กๆตามบ้านเด็กกำพร้า ในนามของ 'หน้ากากเสือ' หนึ่งในตัวการ์ตูนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของชาวญี่ปุ่น

เด็กๆในบ้านเด็กกำพร้าจำนวนมากได้รับทั้งกระเป๋านักเรียน, ผลไม้, ผัก รวมถึงข้าวสาร นอกจากนี้ยังมีเงินสด จำนวนกว่า 92,000 เยน หรือประมาณ 34,000 บาท ที่มาพร้อมข้อความว่า 'ของขวัญจากหน้ากากเสือทั่วญี่ปุ่น'

การ์ตูนหน้ากากเสือ เขียนเนื้อเรื่องโดย อิคคิ คาจิวาระ วาดภาพโดย นาโอกิ ซูจิ ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1968 จนกระทั่งถึงปี 1971 เคยถูกนำไปทำเป็นการ์ตูนทีวีระหว่างปี 1969 - 1971 และปี 1981 - 1982 นอกจากนี้ หน้ากากเสือ ยังเคยปรากฏตัวในรูปแบบภาพยนตร์การ์ตูนเมื่อปี 1970 อีกด้วย

หน้ากากเสือ ได้รับการยกย่องว่า เป็นการ์ตูนที่มีเนื้อหากินใจมากที่สุดเรื่องหนึ่ง โดยตามเนื้อเรื่อง 'หน้ากากเสือ' จะนำเงินที่ชนะจากการแข่งขันมวยปล้ำ ส่งกลับไปให้สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่เขาเติบโตมาทุกเดือน เพื่อช่วยจุนเจือค่าใช้จ่าย และหนี้สินของบ้านเด็กกำพร้า

และหน้ากากเสือ ยังเป็นวีรบุรุษยุคแรกๆที่ประกอบขึ้นจากความไม่สมบูรณ์แบบ โดยพละกำลังและความสามารถของเขาได้มาจากการฝึกฝนอย่างหนัก ขณะที่ภายในจิตใจก็มีทั้งความรู้สึกด้านดีและร้ายที่คอยต่อสู้กัน ซึ่งหลายครั้งเราจะเห็นว่า การที่เขาเลือกทำสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ใช่เพียงเพราะว่าเขาเป็นคนดี แต่เป็นเพราะเขาสามารถข่มจิตใจที่สกปรกไว้ได้ด้วยหัวใจที่ดีงาม







J

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น