วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

'ปัญหาน้ำมัน' เบื้องหลังวิกฤติการเมือง

หลายคนอาจเคยสงสัยกับสถานการณ์การประท้วง ที่บานปลายกลายเป็นความรุนแรงในโลกอาหรับ ทั้งที่ล้มไปแล้วอย่างประเทศอียิปต์ หรือที่กำลังปะทุอย่างเยเมน และซีเรีย แต่แผนภาพกราฟ การผลิต และการใช้น้ำมันอาจบอกเราได้ถึงอะไรบางอย่าง

ด้วยเหตุผลง่ายๆ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่ไม่เหมาะต่อการผลิตสินค้าการเกษตร แต่อุดมไปด้วยแหล่งน้ำมันปริมาณมหาศาล ทำให้ชาติอาหรับจำนวนมาก ต้องใช้วิธีการส่งออกน้ำมัน มาสร้างกำลังซื้อ ในการนำเข้าสินค้าจำพวกอาหาร โดยทุกอย่างจะผ่านไปได้ด้วยดี ตราบเท่าที่บรรดาท่านผู้นำ สามารถหว่านเม็ดเงินส่วนต่าง ให้เป็นสวัสดิการสำหรับประชาชนในประเทศของตนเองได้

แต่ทรัพยากรธรรมชาติอย่างน้ำมันเมื่อมีการใช้ก็ย่อมต้องมีวันหมด ประกอบกับการพัฒนาภายในประเทศ ซึ่งเป็นอัตราเร่ง ทำให้ความต้องการน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น โดยเมื่อถึงจุดที่ปริมาณการผลิตน้ำมันไม่เพียงพอต่อความต้องการ ความจำเป็นในการนำเข้าน้ำมันจึงเกิดขึ้น




ดังปรากฏในกราฟการผลิตและการใช้น้ำมันของประเทศอียิปต์ จุดสูงสุดของการผลิตคือเมื่อปี 2539 และค่อยๆลดลงมาจนเท่ากับการใช้ ในปี 2550 ซึ่งทำให้ชาติอียิปต์ ต้องหันมาเริ่มนำเข้าน้ำมันจากชาติอื่น เพื่อทดแทนความต้องการส่วนต่าง และนำมาซึ่งผลกระทบปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงปัญหาข้าวยากหมากแพง และการว่างงาน

ปัญหาพิษเศรษฐกิจ จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ใช่ลักษณะเฉพาะของประเทศโลกอาหรับ แต่มันเกิดขึ้นได้ทั่วโลก เช่นกรีซ ประท้วงการตัดลดงบประมาณสวัสดิการ หรืออังกฤษ ประท้วงการตัดลดงบประมาณการศึกษา

อย่างไรก็ตาม ชาติอาหรับอาจต้องเผชิญปัญหาหนักกว่าประเทศอื่นอีกเท่าหนึ่ง เมื่อพวกเขามีช่องทางรายรับที่ค่อนข้างจำกัด ขณะที่อำนาจการปกครองก็มักอยู่ในมือของคนส่วนน้อย ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหา ประชาชนจึงมีเหตุผลมากมายในการขับไล่ผู้นำ ที่กลายสภาพเป็นตัวการของความทุกข์ยาก






เช่นเดียวกับการประท้วงในซีเรียและเยเมน โดยจากกราฟ จะเห็นได้ว่า ซีเรียเลยจุดสูงสุดของความสามารถในการผลิตน้ำมันไปแล้วเมื่อปี 2539 และแม้ระดับความต้องการจะยังไม่เท่ากับปริมาณการผลิต แต่จากแนวโน้มก็เห็นได้ว่า คงเหลือเวลาอีกไม่นาน ส่วนที่เยเมนกำลังการผลิตสูงสุดอยู่ที่ปี 2544 ก่อนลดลงมา ขณะที่ความต้องการกลับสวนทางเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ซึ่งเป็นไปได้ว่าในอีกไม่นาน ทั้งสองประเทศก็อาจเริ่มจำเป็นต้องหาทางนำเข้าน้ำมัน เช่นอียิปต์ หลังจากที่ประชาชนลุกฮือประท้วงขับไล่ผู้นำตามอย่างมาแล้ว






ท่ามกลางความวิตกเรื่องน้ำมันหมดโลก หลายประเทศทั้งสหรัฐฯ หรือจีน ที่กำลังการผลิตน้ำมันไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ อาจสามารถหาทางนำเข้าจากแหล่งผลิตอื่นได้ เพราะมีรายได้จากการส่งออกอาหาร หรือสินค้าประเภทต่างๆ แต่คงไม่มีใครหนีความจริงได้ว่า ทรัพยากรโลกจะต้องหมดลงสักวันหนึ่ง ซึ่งเหตุการณ์ในรอบสองสามเดือนที่ผ่านมาของโลกตะวันออกกลาง อาจเป็นสัญญาณบอกเราว่า การขาดการวางแผนแก้ไขปัญหา สามารถนำมาซึ่งปัญหาที่ใหญ่เกินกว่าจินตนาการ เช่นผู้นำเผด็จการที่ปกครองประเทศมาอย่างยาวนานในโลกอาหรับ กำลังเผชิญอยู่







J

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น