วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

'Decade of Vaccines' ยุคแห่งการต่อสู้โรคร้าย

หลังจากช่วงปลายปีที่แล้ว 'บิล แอนด์ เมลินดา เกตส์' องค์กรการกุศลระดับมหาเศรษฐีของโลก ได้ประกาศความตั้งใจในการสนับสนุนเงินจำนวน หนึ่งหมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ สามแสนหนึ่งหมื่นล้านบาท ให้กับการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา รวมถึงสนับสนุนส่งมอบความเหลือให้กับประชาชนในประเทศที่ยากจน ได้มีโอกาสเข้าถึง 'วัคซีน' ภายใต้โครงการที่ชื่อ 'เดเคต ออฟ วัตซีน'

มาในปีนี้ บิล เกตส์ได้ออกจดหมายอธิบาย 'ความสำคัญของวัคซีน' ในรูปแบบวิดีโอภาพแอนิเมชั่นดูง่ายแต่มีสาระ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือการให้ประชาชนทั่วไป สามารถเข้าใจความสำคัญของวัคซีนที่มีต่อมนุษย์ โดยเฉพาะการช่วยเหลือเด็กๆที่จะกลายเป็นพลเมืองโลกอนาคต ให้หลุดพ้นจากโรคร้ายบางชนิด

โดยความหัศจรรย์ของวัคซีน สามารถพิสูจน์ได้จาก การรักษาโรคหัด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโรค ที่มีอัตราการแพร่ระบาด ง่ายและรวดเร็วที่สุดโรคหนึ่ง ซึ่งเพียงการฉีดวัคซีนสองครั้ง ก็สามารถสร้างเด็กที่มีภูมิคุ้มกันต่อสู้กับโรคชนิดนี้ได้ตลอดชีวิต โดยราคาทั้งหมดของค่าวัคซีนคิดเป็นเงินเพียงครั้งละ 18 เซนต์ หรือประมาณ 6 บาทเท่านั้น ความสำเร็จของวัคซีนต้านเชื้อหัดช่วยลดตัวเลขผู้ติดเชื้อ 2,500,000 ราย เหลือเพียง 200,000 ราย ภายในระยะเวลาไม่ถึง 30 ปี

เช่นเดียวกับโรคโปลิโอ ซึ่งแทบจะไม่มีใครรู้ว่าในปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อทั้งโลกคิดเป็นอัตราส่วนไม่ถึงร้อยละ 1 ซึ่งต้องชื่นชมความมุ่งมั่นของอาสาสมัครและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในความร่วมมือที่ต้องการจะขจัดเชื้อโปลิโอให้หายไปจากโลก เหมือนกับที่มนุษย์เคยสามารถจัดการกับโรคฝีดาษได้

กรณีที่น่าสนใจของการเผชิญหน้าวัคซีนกับโปลิโอคือที่อินเดีย หนึ่งในประเทศที่ยังพบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสชนิดนี้ แต่จากความพยายามของอาสาสมัครกว่า 2 ล้านคน ที่จัดตั้งแผงและเต็นท์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโปลีโอขึ้น 800,000 แห่งทั่วประเทศ

จากหนึ่งเป็นสอง และจากสองเป็นสาม จนทำให้ในที่สุด ความช่วยเหลือได้ตกไปถึงชาวอินเดียกว่า 2 ร้อยล้านครัวเรือน และในปี 2010 เหลือเพียงเด็ก 41 คนเท่านั้น ที่ยังมีอาการติดเชื้อไวรัสที่มีผลทำให้เกิดการอักเสบของไขสันหลังในมนุษย์

แต่ความสำเร็จ ยังไม่อาจทำให้เรา 'วางมือ' หรือ 'หยุด' คิดถึงการจัดการกับปัญหาโรคระบาดได้ เนื่องจากสองสาเหตุหลักสำคัญ นั่นคือ ข้อแรก จำนวนตัวเลขของผู้ติดเชื้อ จะสามารถพุ่งสูงขึ้นได้ตลอดเวลาที่ขาดการควบคุมรักษาอย่างต่อเนื่อง เช่นกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศรัสเซีย ซึ่งไม่พบผู้ติดเชื้อมาหลายปี จนกระทั่งกลับมาแพร่ระบาดเมื่อปีที่แล้ว

และข้อสอง คือ การที่เราสามารถนำความสำเร็จที่ได้รับการพิสูจน์ในครั้งนี้ ไปสร้างเป็นแรงบันดาลใจ และกระตุ้นกระแสสนใจจากผู้คนทั่วโลก ให้ลุกขึ้นมาร่วมมือต่อสู้ คิดค้นหาวิธีที่จะทำให้พลเมืองโลกในอนาคตมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม

โดยเมื่อเราสามารถขจัดภัยที่มาจากโรคร้ายต่างๆ ให้สูญสิ้นไปจากโลกได้เมื่อไร นั่นจะถือเป็นชัยชนะที่สำคัญและน่าภาคภูมิของมวลมนุษยชาติ ที่สะท้อนให้เห็นแง่มุมอันงดงาม ในความพยายามที่จะช่วยเหลือกันและกันระหว่างผู้คน







Source: thegatesnotes.com // en.wikipedia.org // thaigcd.ddc.moph.go.th // gatesfoundation.org




J

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น