วันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

'City of Joy' เพื่อเสียงที่ดังกว่า




เหยื่อที่ถูกข่มขืน ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งในสาธารณรัฐคองโก โดยมากต้องมีชีวิตเหลืออยู่ด้วยความอับอายในความผิดที่ตัวเองไม่ได้เป็นผู้ก่อ ขณะที่ผลตอบแทนของหญิงบางรายที่ยอมถูกข่มขืนเพื่อจะปกป้องสามีไม่ให้ถูกทำร้ายหรือฆ่า คือการถูกทิ้งให้ต้องเป็นม่ายอยู่ตามลำพัง

ชีวิตภายหลังเหตุการณ์ที่เลวร้าย คือสถานการณ์ไร้ที่พึ่ง หรือทางออกของเหยื่อ ทำให้หลายต่อหลายชีวิต เลือกที่จะจบบทบาทของตัวเองลง เมื่อตระหนักได้ว่า เสียงที่ยังเหลืออยู่ของพวกเขาคือ 'ความเงียบ'

จนกระทั่งเมื่อประมาณปลายอาทิตย์ก่อน องค์กรการกุศล วี เดย์, มูลนิธิ Panzi และองค์การสหประชาชาติ ได้จัดตั้งสถานบำบัดฟื้นฟูสภาพจิตใจเหยื่อเหตุการณ์ข่มขืน ที่ชื่อ 'ซิตี้ ออฟ จอย' ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือการช่วยเหลือ และเปิดโอกาสให้เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายได้มีที่ทางในการระบายความเจ็บปวดจากเหตุการณ์ในอดีต

โดยหญิงสาวที่เข้ามาในสถานบำบัดจะได้รับการต้อนรับ และดูแลจากเจ้าหน้าที่ รวมถึงเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกันในการแบ่งปันเรื่องราว, ส่งเสริม และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ไปพร้อมๆกับการสร้างเสริมทักษะต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ซึ่งรวมถึงการให้การศึกษาด้วย

โครงการ 'ซิตี้ ออฟ จอย' คาดหวังว่าจะสามารถรองรับและช่วยเหลือหญิงสาวที่ถูกทำทารุณกรรมทางเพศได้มากกว่า 180 คนต่อปี และมีเป้าหมายสูงสุดคือการรวมตัวกัน เพื่อ 'ตะโกน' บอกเล่าเรื่องราวความเลวร้ายของสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในคองโก ให้เพื่อนร่วมโลกทุกคนได้รับรู้ ซึ่งอาจนำไปสู่ปลายทาง คือการยุติสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่มนุษย์พึงกระทำต่อกันและกันได้

เมฆหมอกแห่งฝันร้ายในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่ปี 2541 หลังจากที่กลุ่มชนชาวรวันดากว่าล้านคน หนีภัยสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เข้าไปยังดินแดนแถบคองโกตะวันออก ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ปัญหาความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างเชื้อชาติคองโก และรวันดา

โดยขณะที่ทั้งสองฝ่าย ต่างเริ่มใช้กองกำลังทหารเข้าต่อสู้ปะทะกันรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ 'การข่มขืน' ได้ถูกนำมาใช้เป็น 'อาวุธ' ชิ้นสำคัญ เพื่อเข้าควบคุม, ข่มขวัญ รวมถึงทำลายเกียรติของเหยื่อ และครอบครัวฝ่ายตรงข้าม ซึ่งมีผลอย่างมากในทางจิตวิทยา

จนทำให้เหตุการณ์ 'ข่มขืนหมู่' ได้กลายมาเป็นลักษณะเฉพาะตัวของสถานการณ์ความขัดแย้งในคองโกตะวันออก และนางมาร์ก็อต วอลล์สตอร์ม หนึ่งในเจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเอ็น ถึงกับนิยาม คองโก ไว้อย่างหดหู่ ว่าเป็น 'เมืองหลวงแห่งการข่มขืนของโลก'

ซึ่งจากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ เผยให้เห็นว่า เมื่อปี 2009 มีผู้หญิงชาวคองโกถูกข่มขืน ภายในปีเดียวเป็นจำนวนมากกว่า 15,000 ราย ขณะที่เมื่อเดือนที่แล้ว กองกำลังไม่ทราบฝ่ายได้บุกเข้าไปในหมู่บ้านฟิซี่ ของสาธารณรัฐคองโก และข่มขืนชาวบ้านทั้งหญิงชาย รวมถึงเด็กๆกว่า 100 คน

โดยนักวิเคราะห์หลายฝ่ายต่างมองว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ชาวบ้านยังต้องประสบปัญหานี้อยู่อย่างต่อเนื่องก็คือ การขาดกองกำลังรักษาความปลอดภัย ที่มีประสิทธิภาพมากพอจะหยุดยั้งสถานการณ์เลวร้ายต่างๆที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้

ขณะเดียวกับที่ทางการของคองโกเอง ก็ยังมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องความไม่โปร่งใส และการคอรัปชั่นภายในวงการยุติธรรม ซึ่งพบว่า ผู้ต้องหาจำนวนมาก มักรอดพ้นจากข้อกล่าวหาคดีข่มขืนไปได้อย่างลอยนวล โดยเฉพาะนายตำรวจหรือนายทหารระดับสูงบางราย ซึ่งแม้จะถูกชาวบ้านที่อยู่ในที่เกิดเหตุหลายคน กล่าวหาว่ามีส่วนร่วมสั่งการในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ แต่ก็ยังไม่มีใครจับกุมนำตัวไปสอบสวนเพิ่มเติม







J

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น