วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554

วิถีทางที่ 'ต่าง' เพื่อผู้ยากไร้



ในงาน Clinton Global Initiative เมื่อราวปลายปีก่อน เกิดประเด็นถกเถียงข้อสำคัญขึ้นในวงการไมโครไฟแนนซ์ หรือธุรกิจสถาบันการเงินเพื่อผู้ยากไร้ ระหว่างศาสตราจารย์โมฮัมหมัด ยูนุส บิดาแห่งแนวคิดธุรกิจธนาคารเพื่อสังคม ผู้ก่อตั้ง 'ธนาคารกรามีน' ธนาคารสำหรับคนยากจนแห่งแรกในโลก กับนายวิกรัม อาคุร่า อดีตที่ปรึกษาด้านการเงิน ผู้หันมาทำงานก่อตั้งธนาคารเพื่อคนยากไร้ ที่ประสบความสำเร็จที่สุดในอินเดีย หรือ เอสเคเอส

แม้ทั้งกรามีนและเอสเคเอส จะมีเป้าหมายร่วมกัน ในการเป็น 'ธุรกิจเพื่อสังคม' แต่วิธีการของเอสเคเอสที่จดทะเบียนในตลาดหุ้น ก็นำมาซึ่งข้อถกเถียงในวงการไมโครไฟแนนซ์ โดยมีประเด็นสำคัญคือ 'ความเสี่ยงจากธุรกิจเพื่อสังคมจะเกิดการ 'ไหล' จนกลายไปเป็นธุรกิจที่หวังผลกำไรสูงสุด เมื่อมีการจดทะเบียนในตลาดทุนกระแสหลักหรือไม่?'

โดยศาสตราจารย์ ยูนุส แห่งธนาคารกรามีน เชื่อว่า ตลาดหุ้น หรือตลาดทุนในกระแสหลักปัจจุบัน ที่มองเรื่อง 'ตัวเลขกำไร' เป็นที่ตั้ง จะบิดเบือนพันธกิจของการทำหน้าที่เพื่อสังคมของเอสเคเอสไป

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นในองค์กร ไม่มีหลักประกันใดๆจะยืนยันได้ว่า ผู้บริหารกลุ่มใหม่ที่เข้ามา จะไม่นำตัวเลขผลประกอบการของตน ไปเปรียบเทียบกับธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นๆ และจะสร้าง 'แรงกดดัน' ให้เอสเคเอส ต้องปรับตัวเพื่อผลกำไร จนนำมาซึ่ง การเบียดเบียนและสร้างภาระให้กับคนจนผู้กู้

ดังนั้นแนวทางของการระดมทุนสำหรับ 'กลุ่มองค์กรไมโครไฟแนนซ์' ไม่ใช่กระโจนเข้าหาตลาดทุนทั่วไป แต่ต้องหาช่องทางที่เหมาะสมกับตัวเอง เช่นควรมี 'ตลาดทุน' แบบพิเศษ ซึ่งเป็นตลาดหุ้นเพื่อสังคมโดยเฉพาะ อันจะทำให้นักลงทุนต่างๆที่คิดจะเข้ามาแสวงหากำไรในตลาดนี้ ตระหนักได้ตั้งแต่ต้นว่า ธุรกิจเหล่านี้ มีภารกิจหลักคือการทำงานเพื่อสังคม และไม่ควรหวังผลประกอบการในลักษณะที่สูงเช่นเดียวกับการลงทุนในตลาดทั่วไป

ขณะที่เอสเคเอส ของนายวิกรัม อาคุร่า หลังปี 2005 ที่เดินเข้าสู่วงการตลาดหุ้น ส่งให้พวกเขาเติบโต จนกลายไปเป็นไมโครเครดิตระดับมหาเศรษฐี ที่มีฐานะเป็นผู้จ่ายภาษีลำดับที่ 9 ของประเทศอินเดีย

โดยนายวิกรัม อาคุร่า เชื่อว่า ในระบบการเงินของโลกปัจจุบัน ตลาดทุนและกลไกตลาด สามารถพัฒนาตัวเองไปจนมีประสิทธิภาพสูงมากพออยู่แล้ว และรูปแบบวิธีการทำงานภายในองค์กรที่ยึดหลักธรรมาภิบาล ก็น่าจะเป็นส่วนที่ช่วยผสมผสานให้ กลุ่มไมโครไฟแนนซ์ กลายเป็นช่องทางทำ 'ธุรกิจ' ที่มีอนาคต อันจะนำมาซึ่งโอกาสที่จะเปิดให้ 'คนจน' เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มากขึ้น ซึ่งถือเป็น 'เป้าหมาย' ดั้งเดิมของการทำธุรกิจประเภทนี้

โดยเฉพาะความสำเร็จในการเจริญเติบโตของเอสเคเอส เป็นข้อพิสูจน์ที่นายอาคุร่า พยายามแสดงให้เห็นว่า การสร้างกำไรสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้น และการช่วยเหลือคนยากไร้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเกิดขึ้นได้ 'พร้อมๆกัน'

อาจเป็นเพราะ เบื้องหลังประสบการณ์ของสองนักคิดเพื่อสังคมที่แตกต่าง ทำให้ 'วิธีการ' ของสององค์กรเดินแยกจากกัน โดยศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส เริ่มต้นจากอาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ ผู้ตกผลึกสำนึกในจิตสาธารณะเพื่อผู้ยากไร้ จึงกระโดดลงไปในวงการธุรกิจ

ขณะที่นายวิกรัม อาคุร่า เห็นช่องทางการช่วยเหลือคนยากไร้ หลังจากทำงานในฐานะที่ปรึกษาด้านการเงิน จึงหวังนำธุรกิจและกลไกตลาดที่ตัวเองเชี่ยวชาญ มาปรับใช้และหวังเข้าช่วยเหลือพัฒนาสังคม

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เรากำลังจะเห็นและเป็นไปในข้อสรุปของประเด็นถกเถียง ย่อมส่งผลทางใดทางหนึ่งต่อทิศทางของวงการไมโครไฟแนนซ์ระดับโลก ซึ่งรวมไปถึงประเทศไทย ที่ความจำเป็นของการมีธนาคารเพื่อผู้ยากไร้ 'ที่แท้จริง' ยังมีอยู่ในระดับสูง

ขณะที่การติดตามรับฟังประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับความ 'ขัดแย้ง' ในการหาวิธี 'ลงมือ' ทำงานเพื่อสังคม ก็น่าจะฟังรื่นหูดีกว่า 'วาทกรรมสามัคคี' ที่เราคุ้นชินกันมากนัก


เอื้อเฟื้อข้อมูล อ.สฤณี อาชวานันทกุล



J

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น