วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

นิทานจากยุโรป

ภาพความเป็นรัฐสวัสดิการของกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรปกำลังสั่นคลอน เมื่อกลุ่มรัฐบาลไล่ตั้งแต่ประเทศอังกฤษ ไปจนถึงประเทศบัลแกเรีย กำลังดำเนินนโยบายปรับลดงบประมาณในส่วนของสวัสดิการสังคมต่างๆที่รัฐกำลังแบกรับ เพื่อนำเม็ดเงินส่วนนั้นกลับไปใช้ในการปฏิรูปแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ จากการที่อียูต้องสูญเงินจำนวนมหาศาล หลังตลาดตราสารหนี้สหรัฐฯ ล้มตัวลงไปเมื่อปี 2008

แต่การที่รัฐต้องการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนโดยตรงอย่างประชาชน ต้องออกมา 'พูด' ในสิ่งที่พวกเขากำลังคิดอยู่บ้าง การรวมตัวกันประท้วงของประชาชนทั้งในกรีซ, ฝรั่งเศษ และเบลเยี่ยม เมื่อวันพุธที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา คือตัวอย่างของกลุ่มคนที่ต้องการเรียกร้องเพื่อคืนสิทธิที่ทุกคนต่างเชื่อว่า ตัวเองพึงมีพึงได้ อย่างกรณีของการประท้วงขึ้นค่าเทอมในประเทศอังกฤษก็เช่นกัน

ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์หลายฝ่าย กลับเห็นด้วยกับนโยบายปรับลดงบประมาณลักษณะนี้ โดยเชื่อว่า แม้การดำเนินนโยบายชูความเป็นรัฐสวัสดิการ จะเป็นจุดแข็งของกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรป แต่การทุ่มเม็ดเงินลงไปเพื่อช่วยเหลือดูแลประชาชนนั้น สร้างความไม่มั่นคงให้แก่รัฐ โดยเฉพาะผลข้างเคียงที่ทำให้คนคอยหวังเพียงความช่วยเหลือที่รัฐจะมาป้อนให้ จึงสมควรแล้ว ที่จะถูกรื้อถอนออกไป

ความต้องการที่สวนทางกันของประชาชนผู้คิดรักษาผลประโยชน์ที่ตัวเองเคยได้รับ กับการดำเนินนโยบายของภาครัฐที่ต้องการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับสถานการณ์ในสหภาพยุโรปต่อจากนี้ เป็นสิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยมีแง่มุมให้เราได้คิดเล็กๆว่า บางครั้งการปกครอง 'โดย' ประชาชน อาจไม่ได้หมายถึง 'เพื่อ' ประชาชน ขณะที่การปกครอง 'เพื่อ' ประชาชน อาจไม่ได้มีความหมายเดียวกับ 'โดย' ประชาชน ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้บริหาร และวิสัยทัศน์ของประชาชนเองว่า ต่างพยายามที่จะมองปัญหาจาก 'คนละจุด' กับที่ตัวเองยืนได้เข้าใจขนาดไหน

เพราะถ้าต่างคนต่างเอาแต่มองจากฟากของตัวเอง ใครๆก็คงจะพอ 'เดา' ออกว่า สถานการณ์ต่อไปจะเป็นเช่นไร







J

1 ความคิดเห็น:

  1. โลกยุคใหม่ รัฐต้องเก็บภาษีให้น้อยเท่าที่ทำได้ ดังนั้น รัฐสวัสดิการไม่เหมาะกับโลกยุคโลกาภิวัฒน์ http://www.vcharkarn.com/vwrite/35417

    ตอบลบ