วันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

'อำนาจ' ที่กำลังถูกแย่งชิงคืน

การประท้วงครั้งใหญ่ในอียิปต์สิ้นสุดลงด้วยความสำเร็จของกลุ่มประชาชน ที่สามารถโค่นล้มอำนาจเผด็จการที่ดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนาน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นความสำเร็จครั้งที่สองภายในรอบระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือนของประชาชนในดินแดนอาหรับ ที่หลายประเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย อันมีนัยยะแอบแฝงว่า 'ไร้เสรี'

มาจนถึงตรงนี้ เมื่อฝันร้ายครั้งที่สองเกิดขึ้นจริงๆ ผู้นำประเทศเพื่อนบ้าน และบางคณะรัฐมนตรีที่ยึดถือระบอบวิธีคิดเดียวกันในการจัดการกับผู้ถูกปกครอง เช่นในตูนีเซียและอียิปต์ คงต้องหนาวๆร้อนๆกันว่า 'เก้าอี้' ของตนเองจะถูกเลื่อยขาหั่นออกเป็นชิ้นๆ เมื่อไร โดยเฉพาะถ้าหากยังไม่ยอมเปลี่ยนแปลง 'กลยุทธ์' หรือ 'วิธีคิด' ที่ดูถูกผู้คนในปกครอง

เพราะเมื่อระบบการปกครองไม่เอื้อและช่วยเหลือให้ประชาชนได้ถือขนมปัง เมื่อนั้นพวกเขาก็จำเป็นต้องหันไปหยิบจับอาวุธที่เรียกว่า 'มวลชน' ขึ้นมาต่อกร ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลหลายประเทศได้พบบทเรียนราคาแพงมาแล้วว่า 'พลังของประชาชน' นั้นยิ่งใหญ่กว่าตัวพวกเขามากเพียงไร

ที่น่าจับตามองถัดจากอียิปต์คือที่ประเทศเยเมน ซึ่งเกิดเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และกลุ่มผู้ประท้วง เมื่อวันเสาร์ที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา ขณะที่ ประธานาธิบดีอาลี อับดุลลาห์ ซาเลย์ ซึ่งปกครองเยเมนมาอย่างยาวนานกว่า 33 ปี หลังจากเห็นตัวอย่างจากทั้งนายเบน อาลีของตูนีเซีย และนายมูบารัคของอียิปต์ จึงรีบหาทางออกมาแก้ลำเรือ ด้วยการประกาศว่าจะลงจากตำแหน่งในปี 2556 ซึ่งคณะรัฐบาลของเขาจะหมดวาระ

แต่เป็นเรื่องที่แน่นอนว่าประชาชนที่ออกมาต่อต้านและเรียกร้องในครั้งนี้ ย่อมไม่ยอมรับข้อเสนอดังกล่าว และเรียกร้องให้นายซาเลย์ ลงจากตำแหน่งใน 'ทันที' โดยวิธีการแก้ไขปัญหาของทางการเยเมนในครั้งนี้ นอกจากจะเกาไม่ถูกที่คันแล้ว ยังถือเป็นความคิดแนวเดียวกับที่นายมูบารัคเคยใช้ก่อนได้พบว่า การประกาศลงจากตำแหน่งในอนาคตอัน 'ไกล' นั้น ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ไหนคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นเลย

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ของตูนีเซีย, อียิปต์ และเยเมน เป็นเรื่องที่ต่างกรรม ต่างวาระ จึงเป็นเรื่องยากที่จะบอกได้ว่า สถานการณ์ของเยเมน จะเดินไปในทิศทางและมีบทสรุปเดียวกับ เหตุการณ์ปฏิวัติครั้งใหญ่ใน 2 ประเทศที่กล่าวมา

แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดก็พอจะทำให้เราเห็นภาพรวมที่ว่า รัฐบาลใดที่ยึดครองอำนาจไว้แต่เพียงผู้เดียว, จับกุมหน่วงเหนี่ยว 'ผู้ที่คิดเห็นแตกต่าง' ในสังคม บวกผสมกับ 'สายตาสั้น' มองไม่เห็นความทุกข์ร้อนของประชาชน เมื่อนั้นอำนาจที่ประชาชนให้ไปไว้ในมือ ก็จำเป็นต้องถูกช่วงชิงคืนกลับไป





J

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น