วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2554

'ภัยก่อการร้าย' กับเสียงร้องไห้ที่ไม่มีใครได้ยิน

ภายในระยะเวลาเพียง 2 วัน เกิดเหตุวินาศกรรมขึ้นถึง 3 ประเทศ และมีผู้เสียชีวิตรวมกันเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 100 คน

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เกิดเหตุระเบิดพลีชีพขึ้นบริเวณตอนกลางของประเทศอัฟกานิสถาน ระหว่างการประชุมเจ้าหน้าที่หน่วยงานรักษาความปลอดภัยรัฐบาล โดยพยานในที่เกิดเหตุกล่าวว่า ได้ยินเสียงระเบิดไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง บริเวณฐานที่มั่นของเมืองปาร์วาน ขณะที่เจ้าหน้าที่สามารถวิสามัญคนร้าย ก่อนจะทันก่อเหตุระเบิดอีกจุดหนึ่งได้ เหตุวินาศกรรมที่เกิดขึ้นส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 22 ราย ได้รับบาดเจ็บอีก 34 คน โดยกว่า 16 รายของเหยื่อระเบิดพลีชีพในครั้งนี้ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทำงานในบริเวณดังกล่าว


วันเดียวกัน ที่ประเทศปากีสถาน เกิดเหตุลอบวางระเบิดในโรงแรมทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 12 ราย และได้รับบาดเจ็บอีก 20 คน โดยก่อนหน้านั้นไม่กี่ชั่วโมง กองกำลังติดอาวุธไม่ทราบฝ่ายได้ยิงจรวดเข้าโจมตีค่ายทหาร จนมีผู้เสียชีวิต 3 ราย ซึ่งเหตุการณ์วินาศกรรมสองครั้งซ้อน เกิดขึ้นในระหว่างการเฉลิมฉลองครบรอบวันประกาศเอกราช ปีที่ 64 โดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกล่าวว่า คนร้ายได้ลอบเข้าไปวางระเบิดในโรงแรมและกดระเบิด ในขณะที่มีประชาชนนั่งกันอยู่เต็มบริเวณห้องโถง


ส่วนวันนี้ ที่ประเทศอิรัก บริเวณเมืองคุต เกิดเหตุคาร์บอมบ์ และลอบวางระเบิดแสวงเครื่อง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 34 ราย และได้รับบาดเจ็บอีกถึง 65 คน ขณะที่ในเวลาไร่เรี่ยกัน คนร้ายได้ก่อเหตุวินาศกรรม ทั้งลอบยิง, คาร์บอมบ์ รวมถึงระเบิดพลีชีพ อีกกว่า 12 จุดทั่วประเทศ ทำให้มีเหยื่อวินาศกรรมภายในวันนี้วันเดียว รวมแล้วกว่า 52 ราย เหตุการณ์ความรุนแรง เกิดขึ้นหลังจากเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ทางการอิรักประกาศเจรจากับรัฐบาลกรุงวอชิงตัน ในเรื่องของการขยายกรอบเวลาโครงการฝึกทหารต่อจากปลายปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ สหรัฐฯต้องถอนทหารจำนวนกว่า 47,000 นาย ออกจากอิรัก ตามข้อตกลงทวิภาคี ที่ทำกันเอาไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2551


นับตั้งแต่วันที่โลกเริ่มประกาศสงครามกับภัยคุกคาม ด้วยการใช้กองกำลังทหารเข้าปราบปราม เหตุวินาศกรรมและการก่อการร้ายกลับมีแต่ยิ่งรุนแรงและโหดร้ายมากขึ้น จนทำให้ความรู้สึกของประชาชนทั่วไป ต่อการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินพลเมืองโลก เริ่มกลายเป็นความเฉยชา


จะถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่โลกจะหันกลับมาทบทวนบทเรียนโศกนาฏกรรมครั้งแล้วครั้งเล่า และเริ่มต้นดำเนินมาตรการจัดการกับความรุนแรงเสียใหม่ ก่อนที่ความรู้สึกสำนึกในมนุษยธรรมจะถูกทำลาย จนกลายเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย และทำให้เรา 'ตายด้าน' กับ 'การตาย' ของใครสักคนหนึ่ง





J

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น