วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554

จัดเรตติ้งไทย จัดระเบียบเสรีภาพ




การจัดเรตติ้งภาพยนตร์ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในสังคมโลกตะวันตก มีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือการกำหนดจำแนกความเหมาะสมสำหรับผู้ชม ทั้งในแง่ของเพศสถานะ, ความรุนแรง หรือการใช้ยาเสพติด รวมไปถึงลักษณะเนื้อหาภาพยนตร์บางเรื่อง ที่เป็นลักษณะเฉพาะสำหรับ 'วัยผู้ใหญ่' เพื่อช่วยเหลือคุ้มครองเด็กและเยาวชน ​ไม่​ให้​ต้อง​เผชิญ​กับ​สิ่ง​ไม่​เหมาะสมที่ถูกสังคมนำ​เสนอ ทั้งนี้ ในสังคมของประเทศที่ใช้ระบบเรตติ้งเอง ก็มักมีความแตกต่างกันในด้านของน้ำหนักว่าสิ่งไหนควรหรือไม่ควร เช่นที่สหรัฐฯ ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเพศ มักถูกกำหนดให้มีระดับเรตติ้งที่ค่อนข้างสูงกว่า ระดับความเข้มข้นเดียวกันของภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเรื่องความรุนแรง ขณะที่ในเยอรมนี ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาหรือภาพที่รุนแรง มักถูกเลื่อนระดับให้มีเรตติ้งที่สูงกว่า

การจัดเรตติ้ง มีความสำคัญเป็นอย่างมาก สำหรับเด็กและเยาวชน โดยจากผลการวิจัยของนักมานุษยวิทยาพบว่า

เด็กเล็กอายุ 3-5 ปี จะแยกแยะบทบาทจริงและบทบาทสมมติไม่ได้
เด็กอายุ 6-12 ปี จะแยกบทบาทจริงและบทบาทสมมติได้ไม่ดี
เด็กอายุ 13-18 ปี เป็นวัยที่กำลังหาแบบอย่างให้แก่ตัวเอง
เด็กวัย 18 ปี ขึ้นไป เริ่มมีความคิดความอ่านแบบผู้ใหญ่

การจัดเรตติ้ง จึงเป็นเสมือนกำแพงป้องกันสิ่งแปลกปลอม ก่อนถึงวัยที่เด็ก จะสามารถแยกแยะสิ่งต่างๆได้

ในสหรัฐอเมริกา เริ่มมีการใช้ระบบเรตติ้งตั้งแต่ปี 2511 เพื่อให้คำแนะนำกับผู้ปกครองสำหรับภาพยนตร์ เรื่องที่เด็กและเยาวชนควรและไม่ควรดู แบ่งเป็น

G สำหรับทุกเพศทุกวัย
PG สำหรับทุกเพศทุกวัย แต่เด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปี ควรอยู่ในการแนะนำของผู้ปกครอง
PG-13 เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี ควรอยู่ในการแนะนำของผู้ปกครอง
R เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี ต้องเข้าชมพร้อมกับผู้ปกครองที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป
NC-17 เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ห้ามดู

ทั้งนี้ การจัดเรตติ้งของสหรัฐฯ ไม่ใช่มาตรการบังคับที่ถูกตราเป็นกฎหมาย ดังนั้น ระบบเรตติ้งจึงมีคุณค่าเสมือนคำแนะนำสำหรับเลือก 'สาร' ให้แก่เด็กและเยาวชน โดยไม่ได้มีความหมายใดๆเลยกับบุคคล ที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป ซึ่งถูกมองว่าบรรลุนิติภาวะแล้ว

ส่วนที่เยอรมนี ใช้ระบบเรตติ้ง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันเด็ก และเยาวชนจากสื่อที่มีเนื้อหาสุ่มเสี่ยง โดยมีสถาบันจัดเรตติ้งชื่อว่า FSK แต่ไม่ได้มีกฎหมายให้ผู้ผลิตต้องส่งตรวจสอบ เป็นเพียงความสมัครใจของสื่อหรือภาพยนตร์ใด ที่ต้องการแสดงต่อสาธารณชนว่า เยาวชนสามารถเข้าถึงผลงานของตนได้ ซึ่งสื่อที่มีเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่ชัดเจน จะถูกห้ามไม่ให้ยื่นขอพิจารณาจัดเรตติ้งสำหรับเยาวชน

FSK 0 สำหรับทุกเพศทุกวัย
FSK 6 สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปี ขึ้นไป
FSK 12 สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปี ขึ้นไป
FSK 16 สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 16 ปี ขึ้นไป
FSK 18 เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ห้ามดู

ทั้งนี้ การกำหนดมอบเรตติ้งต่างๆให้แก่ภาพยนตร์แต่ละเรื่อง จะมีข้อกำหนดที่มีลักษณะเป็นรูปธรรมในการใช้อธิบายการตัดสินมากมาย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้ง 2 ประเทศ แม้รายละเอียดบางส่วนจะแตกต่างกันเล็กน้อย แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ จุดมุ่งหมายของการจัดเรตนั้น ทำไปเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชน เท่านั้น ไม่มีข้อกำหนดหรือคำแนะนำไหน ที่ออกมาใช้ควบคุมคนดูกลุ่มที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ เช่นการประกาศห้ามฉาย

ในส่วนของประเทศไทย พึ่งมีการเปลี่ยนแปลงหันมาใช้ระบบเรตติ้ง แทนระบบเซนเซอร์ เมื่อราวปี 2552 หลังความพยายามต่อสู้กันมาอย่างยาวนานของคนทำหนัง โดยเริ่มปะทุเป็นกระแสสังคม หลังภาพยนตร์เรื่องแสงศตวรรษ ของ เจ้ย, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ถูกตัดเนื้อหาบางส่วนที่เจ้าหน้าที่กองเซนเซอร์มองว่าไม่เหมาะสมต่อสังคมไทย ซึ่งเมื่อตัวเจ้าของผลงานไม่ยอมรับคำตัดสิน นำไปสู่การลุกขึ้นสู้ ให้ได้มาซึ่งสิทธิและเสรีภาพของคนทำหนัง ซึ่งอาจอ้างอิงไปถึงคนดูหนังด้วยเช่นกัน

ปัจจุบัน ประเทศไทยหันมาใช้ระบบเรตติ้ง โดยแบ่งเป็น 7 เรต คือ

ส ส่งเสริมการเรียนรู้ และส่งเริมการดู
ท เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไป
น 13+ เหมาะสมกับผู้ที่อายุมากกว่า 13 ปี ขึ้นไป
น 15+ เหมาะสมกับผู้ที่มีอายุมากกว่า 15 ปี ขึ้นไป
น 18+ เหมาะสมกับผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปี ขึ้นไป
ฉ 20+ เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามดู ยกเว้นผู้บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส
ห ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักรไทย

แต่เหมือนนั่งพายเรื่ออยู่ภายในอ่าง เมื่อปัญหาและข้อถกเถียงถึงตัวกฎหมายการจัดเรตติ้ง ยังคงเป็นที่ถกเถียง โดยเฉพาะเมื่อเกิดการจัดเรต ห ให้กับภาพยนตร์เรื่อง Insect in the Backyard คำถามหาเหตุผล ของการกระทำดังกล่าว 'อย่างเป็นรูปธรรม' จึงเกิดขึ้น ทำให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นาย นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ต้องเขียนจดหมายชี้แจงต่อสังคมว่า

'ภาพยนตร์จะได้ฉายหรือไม่ เป็นปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้น และดำรงอยู่ในสังคมต่อไป และเรื่องเช่นนี้ก็เคยเกิดขึ้นเป็นประจำในอดีต ปัญหาที่ซ่อนอยู่และน่าเป็นห่วงในความเห็นของผู้เขียนคือ การที่เราไม่กล้าวินิจฉัยว่า สิ่งไหน 'ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน' โดยให้เหตุผลว่า 'ศีลธรรมอันดีของประชาชน' กว้างเกินไปจนไม่สามารถหาบรรทัดฐานมาตรวจวัดได้ เลยไม่กล้าวางบรรทัดฐานทางศีลธรรม'

'สังคมไทยอยู่ในสภาพเช่นนี้ เพราะผู้ที่กฎหมายให้อำนาจวางบรรทัดฐานของสังคมไม่กล้าวางบรรทัดฐาน โดยกลัวจะถูกตำหนิต่อว่าจากสังคม คนหกสิบกว่าล้านคนจึงมาตรฐานหกสิบล้านมาตรฐาน สังคมจึงวุ่นวายไม่สงบสุข ดังที่เห็นๆ กันอยู่'

นายนิพิฏฐ์ จึงต้องการสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับสังคมไทย โดยลงท้ายจดหมายว่า

'ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เห็นว่า ภาพยนตร์ Insects in the Backyard 'ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน' ห้ามฉายครับ!'

จดหมายชี้แจง นำไปสู่ข้อถกเถียงในสังคม ต่อความหมายของคำว่า 'ศีลธรรมอันดีของประชาชน' ขณะที่ 'ประชาชน' คนอื่นๆ เริ่มมีคำถามว่า พวกเขาในวัยที่สามารถเข้าคูหาเลือกตั้ง มีสิทธิเลือกชมภาพยนตร์ด้วยตัวเอง ได้หรือไม่

ปล. ผู้กุมอำนาจ และได้รับการยอมรับให้สามารถสร้างบรรทัดฐานตามแต่ใจตัวเอง จะด้วยความสมัครใจของพลเมืองคนอื่นๆในประเทศก็ดี ไม่สมัครใจก็ดี เคยกล่าวถึงสถานการณ์การ 'แบน' ภาพยนตร์ในเมืองไทยว่า 'ประเทศอื่นๆ เช่น 'จีน' มีการแบนหนังกันมากกว่าที่ประเทศไทยทำกันอยู่นี้ ไม่รู้กี่ร้อยเท่า'...

...เอวังด้วยประการฉะนี้





J

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น