วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

'ปัญหาน้ำมัน' เบื้องหลังวิกฤติการเมือง

หลายคนอาจเคยสงสัยกับสถานการณ์การประท้วง ที่บานปลายกลายเป็นความรุนแรงในโลกอาหรับ ทั้งที่ล้มไปแล้วอย่างประเทศอียิปต์ หรือที่กำลังปะทุอย่างเยเมน และซีเรีย แต่แผนภาพกราฟ การผลิต และการใช้น้ำมันอาจบอกเราได้ถึงอะไรบางอย่าง

ด้วยเหตุผลง่ายๆ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่ไม่เหมาะต่อการผลิตสินค้าการเกษตร แต่อุดมไปด้วยแหล่งน้ำมันปริมาณมหาศาล ทำให้ชาติอาหรับจำนวนมาก ต้องใช้วิธีการส่งออกน้ำมัน มาสร้างกำลังซื้อ ในการนำเข้าสินค้าจำพวกอาหาร โดยทุกอย่างจะผ่านไปได้ด้วยดี ตราบเท่าที่บรรดาท่านผู้นำ สามารถหว่านเม็ดเงินส่วนต่าง ให้เป็นสวัสดิการสำหรับประชาชนในประเทศของตนเองได้

แต่ทรัพยากรธรรมชาติอย่างน้ำมันเมื่อมีการใช้ก็ย่อมต้องมีวันหมด ประกอบกับการพัฒนาภายในประเทศ ซึ่งเป็นอัตราเร่ง ทำให้ความต้องการน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น โดยเมื่อถึงจุดที่ปริมาณการผลิตน้ำมันไม่เพียงพอต่อความต้องการ ความจำเป็นในการนำเข้าน้ำมันจึงเกิดขึ้น




ดังปรากฏในกราฟการผลิตและการใช้น้ำมันของประเทศอียิปต์ จุดสูงสุดของการผลิตคือเมื่อปี 2539 และค่อยๆลดลงมาจนเท่ากับการใช้ ในปี 2550 ซึ่งทำให้ชาติอียิปต์ ต้องหันมาเริ่มนำเข้าน้ำมันจากชาติอื่น เพื่อทดแทนความต้องการส่วนต่าง และนำมาซึ่งผลกระทบปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงปัญหาข้าวยากหมากแพง และการว่างงาน

ปัญหาพิษเศรษฐกิจ จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ใช่ลักษณะเฉพาะของประเทศโลกอาหรับ แต่มันเกิดขึ้นได้ทั่วโลก เช่นกรีซ ประท้วงการตัดลดงบประมาณสวัสดิการ หรืออังกฤษ ประท้วงการตัดลดงบประมาณการศึกษา

อย่างไรก็ตาม ชาติอาหรับอาจต้องเผชิญปัญหาหนักกว่าประเทศอื่นอีกเท่าหนึ่ง เมื่อพวกเขามีช่องทางรายรับที่ค่อนข้างจำกัด ขณะที่อำนาจการปกครองก็มักอยู่ในมือของคนส่วนน้อย ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหา ประชาชนจึงมีเหตุผลมากมายในการขับไล่ผู้นำ ที่กลายสภาพเป็นตัวการของความทุกข์ยาก






เช่นเดียวกับการประท้วงในซีเรียและเยเมน โดยจากกราฟ จะเห็นได้ว่า ซีเรียเลยจุดสูงสุดของความสามารถในการผลิตน้ำมันไปแล้วเมื่อปี 2539 และแม้ระดับความต้องการจะยังไม่เท่ากับปริมาณการผลิต แต่จากแนวโน้มก็เห็นได้ว่า คงเหลือเวลาอีกไม่นาน ส่วนที่เยเมนกำลังการผลิตสูงสุดอยู่ที่ปี 2544 ก่อนลดลงมา ขณะที่ความต้องการกลับสวนทางเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ซึ่งเป็นไปได้ว่าในอีกไม่นาน ทั้งสองประเทศก็อาจเริ่มจำเป็นต้องหาทางนำเข้าน้ำมัน เช่นอียิปต์ หลังจากที่ประชาชนลุกฮือประท้วงขับไล่ผู้นำตามอย่างมาแล้ว






ท่ามกลางความวิตกเรื่องน้ำมันหมดโลก หลายประเทศทั้งสหรัฐฯ หรือจีน ที่กำลังการผลิตน้ำมันไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ อาจสามารถหาทางนำเข้าจากแหล่งผลิตอื่นได้ เพราะมีรายได้จากการส่งออกอาหาร หรือสินค้าประเภทต่างๆ แต่คงไม่มีใครหนีความจริงได้ว่า ทรัพยากรโลกจะต้องหมดลงสักวันหนึ่ง ซึ่งเหตุการณ์ในรอบสองสามเดือนที่ผ่านมาของโลกตะวันออกกลาง อาจเป็นสัญญาณบอกเราว่า การขาดการวางแผนแก้ไขปัญหา สามารถนำมาซึ่งปัญหาที่ใหญ่เกินกว่าจินตนาการ เช่นผู้นำเผด็จการที่ปกครองประเทศมาอย่างยาวนานในโลกอาหรับ กำลังเผชิญอยู่







J

'พม่า' ในกาลเวลาและฝันร้าย

ประเทศพม่า หรือสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า หนึ่งในชาติที่เคยเจริญรุ่งเรืองที่สุด ในดินแดนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ภัยจากยุคล่าอาณานิคมชาติตะวันตก สร้างปัญหาความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ที่ทิ้งค้างหลงเหลือให้เห็นเป็นความทุกข์ยากของชาวพม่าในปัจจุบัน

พม่าปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาอย่างยาวนาน ก่อนมาตกต่ำถึงขีดสุดเมื่อกลายเป็นเมืองขึ้นของจอมล่าอาณานิคมอย่างอังกฤษ หลังสู้รบกัน 3 ครั้ง ในระหว่างปี 2367 ถึง ปี 2429 ความเลวร้ายที่สุดของอังกฤษ คือการนำทาสชาวอินเดียขึ้นมาเป็นผู้ปกครองชาวพม่า ซึ่งทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่พอใจ เพราะทำให้ประเทศพม่า 'ยากไร้' เรื่องการพัฒนา

จนถึงช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเริ่มมีบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยติดต่อกลุ่มนักศึกษาพม่า ซึ่งมีแกนนำคือ นายพลอองซาน ที่กำลังหาทางกอบกู้เอกราช และคิดว่าญี่ปุ่นจะช่วยเหลือ แต่หลังจากที่กองทัพญี่ปุ่นขับไล่อังกฤษออกจากพม่าได้ ญี่ปุ่นกลับหน่วงเหนี่ยวการประกาศเอกราชของพม่า

ต่อมา นายพลอองซานก่อตั้งกลุ่ม AFPFL เพื่อต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่ง AFPFL ได้กลายมาเป็นพรรคการเมืองสำคัญ หลังจากที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยพรรค AFPFL ชนะพรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษ ในการเลือกตั้ง และ นายพลอองซานก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารประเทศ

นายพลอองซาน มีนโยบายสร้างความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจ ด้วยการออกสนธิสัญญาปางหลวง // แผนแม่แบบสำหรับการรวมชนกลุ่มน้อย รวมถึงคิดเจรจาติดต่อทำธุรกิจกับอังกฤษอย่างสันติวิธี แต่ด้วยแนวคิดที่แตกต่าง ทำให้นายพลอองซาน และรัฐมนตรีอีก 6 คน ถูกฝ่ายคอมมิวนิสต์ ลอบสังหาร เมื่อปี 2490 ซึ่งหลังจากนั้นเป็นต้นมา แม้อังกฤษจะยอมมอบเอกราชให้กับพม่า ในปี 2491 แต่ชาวพม่าก็ต้องเผชิญปัญหาความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งนำไปสู่การถูกนายพลเนวิน ปฏิวัติรัฐประหารเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไปเป็นสังคมนิยม เมื่อปี 2505 ซึ่งตลอดการปกครอง 26 ปี ความล้มเหลวของรัฐบาล ทำให้พม่ากลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก

จากปัญหาคุณภาพชีวิต ชาวพม่าจำนวนมากตัดสินใจออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ในปี 2531 และปะทะกับกองกำลังทหาร จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 3,000 ราย ขณะที่กองทัพได้จัดตั้งสภาเพื่อการพัฒนาและสันติภาพแห่งรัฐ หรือเอสพีดีซี ขึ้นบริหารประเทศ แต่พม่าในกำมือของเอสพีดีซีเอง ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประชาชนได้ สภาพสังคมและความเป็นอยู่ของชาวพม่า นอกจากจะขาดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ยังต้องต่อสู้กับความยากจน ทั้งที่พม่า เป็นหนึ่งในประเทศที่มีทรัพยากรป่าไม้อุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลก

อย่างไรก็ตาม หลังการชั่งน้ำหนักระหว่างการใช้ระบอบเผด็จการทหาร กับการถูกนานาชาติคว่ำบาตร นายพลตัน ฉ่วย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า ได้จัดการเลือกตั้งขึ้นเมื่อช่วงปลายปีก่อน เพื่อเป็นบทเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย และแม้พรรคยูเอสดีพี ของเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีคนใหม่และบุคคลใกล้ชิดของนายพลตัน ฉ่วย จะชนะการเลือกตั้ง ท่ามกลาง คำถามหาความโปร่งใสจากนานาชาติ // แต่วันนี้ 30 มีนาคม 2554 นายพลตัน ฉ่วย ประกาศยุบเอสพีดีซี ซึ่งถือเป็นการยุติบทบาทของรัฐบาลทหาร ที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ เพื่อเริ่มต้นประวัติศาสตร์การปกครองหน้าใหม่ ที่ประชาชนทั่วโลกต่างหวังว่า จะเป็นก้าวแรกให้ ชนชาติพม่า หลุดพ้นจากภาพ 'ฝันร้าย' ได้เสียที







J

วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2554

RIP TAYLOR





หลายคนคงจดจำ เอลิซาเบธ เทย์เลอร์ หรือลิซ เทย์เลอร์ นักแสดงสาวเจ้าบทบาท ชาวอเมริกัน ได้จากบทบาทคลีโอพัตรา ในภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน เมื่อปี 2506 ซึ่งเธอถือเป็นผู้ที่ทำให้คนทั้งโลกจดจำราชินีแห่งอาณาจักรอียิปต์โบราณ เป็นภาพของหญิงสาวดวงตาสีม่วงแสนงดงาม คนนี้

เธอเติบโตขึ้นในครอบครัวชาวอเมริกัน ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2475 ก่อนย้ายกลับไปสหรัฐฯในอีก 7 ปีต่อมา โดยเธอได้เริ่มต้นทำงานในฐานะนักแสดง ขณะที่มีอายุได้เพียง 10 ปี จากการชักชวนของคู่หมั้นประธานบริษัทยูนิเวอร์แซล และหลังจากนั้น โลกก็ได้ดาวดวงใหม่ ขึ้นมาประดับวงการภาพยนตร์

เอลิซาเบธ เทย์เลอร์ ก้าวขึ้นเป็นดาราหญิงระดับตำนานของโลกฮอลลีวู้ด จากผลงานการแสดงภาพยนตร์กว่า 50 เรื่อง โดยเธอได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักแสดงสาวที่ดีที่สุดจากยุคทองของโลกฮอลลีวู้ด ขณะที่สถาบันภาพยนตร์อเมริกัน ให้เธออยู่ในลำดับที่ 7 ของนักแสดงหญิงที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล

ความสำเร็จจากในจอ ทั้งออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม 2 ครั้ง, รางวัลออสการ์เกียรติคุณ 1 ครั้ง รวมถึงรางวัลลูกโลกทองคำอีก 2 ครั้ง ใช่จะแปลว่าชีวิตนอกจอของเธอนั้นสวยงามโรยล้อมไปด้วยกลีบกุหลาบ ตลอดชีวิตของเอลิซาเบธ เทย์เลอร์ เธอแต่งงาน 8 ครั้ง ครั้งแรกแต่งงานเมื่ออายุได้เพียง 18 ปี และมีอายุสมรสเพียง 203 วัน ส่วนการแต่งงานครั้งที่ 8 เธอแต่งกับหนุ่มใหญ่กรรมกรก่อสร้าง ซึ่งอายุอ่อนกว่าเธอร่วม 19 ปี หลังจากพบกันในสถานบำบัดเหล้าและยาแก้ปวด อย่างไรก็ตาม หากใครจะคิดว่า ผู้หญิงที่ชื่อ เอลิซาเบธ เทย์เลอร์ มีแต่ความเหลวแหลก และเรื่องฉาว ก็ต้องบอกว่าไม่ใช่

เอลิซาเบธ เทย์เลอร์ ทุ่มเททั้งเวลาและพลังมหาศาลให้กับองค์กรการกุศลช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์ ดังที่ ดอน แบรนชัน กรรมการบริหารของคลินิกวิทแมน วอร์คเกอร์ ในกรุงวอชิงตัน ซึ่งเป็นคลินิกเฉพาะทางสำหรับกลุ่มผู้ป่วยโรคเอชไอวี กล่าวถึงเธอว่า เอลิซาเบธใช้พลังในโลกมายาของเธอ มาช่วยเหลือและเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของกลุ่มอเมริกันชนต่อผู้ป่วยโรคเอดส์ ตั้งแต่ในวันที่ยังไม่มีใครเข้าใจ หรือสนใจโรคร้ายแห่งยุคสมัยของพวกเรา

เอลิซาเบธ เทย์เลอร์ เคยทำหน้าที่เป็นแกนนำเรี่ยไรเงินให้กับองค์กรการกุศล สำหรับผู้ป่วยโรคเอชไอวี ได้เป็นจำนวนมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์ หรือราว 3,000 ล้านบาท และสนับสนุน รวมถึงก่อตั้งกองทุนการกุศล ที่ทำงานด้านป้องกัน, วิจัย และรักษาคนไข้โรคเอดส์มากมาย นอกจากนี้ เธอยังเคยทำหน้าที่เป็นโฆษกให้กับองค์กรที่ทำงานด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะการวิจัยโรคเอดส์ ชีวิตจริงที่ยิ่งกว่าละครของเธอ ทำให้เธอเป็นหนึ่งในคนดังแห่งยุค ที่มีผู้คนกล่าวถึงอยู่เสมอ

อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับทุกตำนาน ที่ย่อมต้องมีวันปิดฉาก เอลิซาเบธ เทย์เลอร์ จากโลกนี้ไป ด้วยวัย 79 ปี เมื่อวันพุธที่ 23 มีนาคม ที่ผ่านมา หยาดน้ำตาที่หลั่งออกมาเพื่อไว้อาลัยให้กับการจากไปของเธอ ไม่ได้มากมาย เพียงเพราะความเป็นนักแสดงมากฝีมือ หรือความเป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคมตัวยง แต่บทบาทชีวิตของเอลิซาเบธ เทย์เลอร์ ซึ่งสะท้อนภาพ 'มนุษย์' ที่กลมกล่อม ทั้งภาพความสำเร็จและความล้มเหลว, ฉากโรแมนติกและฉากโศกเศร้า รวมไปถึงเรื่องดีงามและเรื่องอื้อฉาว ก็ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะหลั่งน้ำตาให้กับตอนอวสานของบทละครแห่งชีวิตบทนี้









J

วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2554

หากฉัน ไม่ใช่ฉัน

หากฉันไม่ใช่ฉัน ฉันคงพูดในสิ่งที่คิดได้

หากฉันไม่ใช่ฉัน คนอื่นคงอยากฟังรับสิ่งที่ฉันพูดได้

หากฉันไม่ใช่ฉัน ฉันคงได้ทำในสิ่งที่ต้องการได้

หากฉันไม่ใช่ฉัน คนอื่นคงยอมรับสิ่งที่ฉันทำได้

แต่เพราะฉันเป็นเพียงฉัน ฉันจึงทำได้แต่สิ่งที่คนอื่นอยากให้ทำได้

และเพราะฉันเป็นเพียงฉัน เสียงของฉันจึงเบาเกินไป เกินกว่าที่ใครจะได้ยิน หรือคนจะอยากรับฟังได้




๋J