วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ผู้เสกสรร 'ความเทา' ของคน ให้กลายเป็น 'ความงาม' ของมนุษย์

'ลูเซียน ฟรอยด์' อาจไม่ใช่ชื่อที่คุ้นหูคนไทย (ชนชาติที่ตัดสินทุกอย่างเพียงขาวและดำ) เท่ากับ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ คุณปู่บรรพบุรุษชื่อก้อง แต่ศิลปินชาวอังกฤษผู้นี้ คือหนึ่งในยอดศิลปินร่วมสมัย ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ทั้งในแง่ของชื่อเสียง, แนวทางความโดดเด่นของชิ้นงานศิลปะ และรายได้จากการค้าขายผลงานภาพของตัวเอง โดยเมื่อปี 2551 ภาพพอร์เทรต 'Benefits Supervisor Sleeping' ซึ่งลูเซียน ฟรอยด์วาดไว้เมื่อปี 2538 ขายประมูลได้ราคาถึง 33 ล้าน 6 แสนดอลลาร์ หรือประมาณ 1 พันล้านบาท ทำลายสถิติราคาขายประมูลผลงานศิลปะของศิลปินที่ยังมีชีวิตโลดแล่นสร้างสรรค์นามธรรมและรูปธรรมอยู่ทุกคน


'Benefits Supervisor Sleeping' 1995


ลูเซียน ฟรอยด์ เกิดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ปี 2465 ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี มีสถานะตามใบเกิดเป็นหลานชายคนโตของซิกมุนด์ ฟรอยด์ ยอดนักจิตวิทยาชาวออสเตรีย

ความโด่งดังของปู่อาจช่วยเขาบ้างไม่มากก็น้อย แต่สุดท้าย ลูเซียน ฟรอยด์ ก็สามารถสร้างชื่อขึ้นมา ด้วยลำแข้ง (หรือเรียกให้ถูกว่าด้วยลำแขน) ของตัวเอง และถูกจดจำในฐานะของหนึ่งในศิลปินที่ยอดเยี่ยมที่สุดในศตวรรษที่ 20 ด้วยทักษะความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งที่มนุษย์โลกนิยามกันว่า 'ศิลปะ'


'Reflection' 1985


ผลงานของลูเซียน ฟรอยด์ ได้รับการยกย่องในแง่ของอารมณ์และสัญลักษณ์ ซึ่งเน้นการเปิดให้ผู้เสพงานได้มีโอกาสสำรวจลึกลงไปในจิตใจของมนุษย์ผ่านทางผืนผ้าใบ โดยลูเซียน ฟรอยด์ เคยกล่าวว่า 'เขาสนใจปรากฏการณ์ที่ทำให้มนุษย์มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง มากกว่าบทสรุปว่า มนุษย์มีลักษณะอย่างไร'

'Large Interior W11' 1981-1983


ในยุคแรกของการทำงาน ผลงานของลูเซียน ฟรอยด์ มักมีลักษณะเหนือจริง เขาโดดเด่นในการจัดวางตำแหน่งของคนและวัตถุแบบผิดรูปและอย่างผิดปกติ เช่น 'Girl with a Kitten' หรือ 'Hotel Bedroom' ก่อนจะค่อยๆเปลี่ยนมาเป็นสไตล์ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งฟรอยด์จงใจใช้ลวดลายฝีแปรงสร้างมิติของรูปร่างมากขึ้น และภาพดูมีความตื้นลึกและสื่ออารมณ์ละเลียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น เช่นงาน 'Large Interior Paddington'


'Girl with a Kitten' 1947


'Hotel Bedroom' 1954


'Large Interior Paddington' 1969


ลูเซียน ฟรอยด์ มักวาดภาพโดยนำบุคคลใกล้ตัวมาเป็นแบบ เช่นเพื่อน, ครอบครัว หรือคนรัก โดยหนึ่งในชุดภาพที่อยู่ในความทรงจำของใครหลายคน ก็เช่นซีรีส์พอร์เทรตรูปแม่ 'The Painter's Mother' หรือ 'After Cézanne' ที่โดดเด่นในแง่ของการจัดวางสัดส่วนผิดปกติ แต่สื่ออารมณ์หนักหน่วง รวมไปถึงภาพ 'Queen Elizabeth II' ซึ่งลูเซียน ถูกสื่อมวลชนอังกฤษหลายสำนักวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องของความเหมาะสม แต่อย่างที่หลายคนน่าจะเดากันถูกว่า ลูเซียน ฟรอยด์ดูจะไม่ยี่หระเท่าไร ต่อประเด็นนี้


'The Painter's Mother' 1972


'After Cézanne' 1999-2000


'Queen Elizabeth II' 2000-2001


ผลงานของลูเซียน ฟรอยด์ถูกนำไปจัดแสดงตามหอศิลป์ และพิพิธภัณฑ์ต่างๆทั่วโลกมากมาย ขณะที่ตัวเขาเองก็เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิง Turner Prize ซึ่งเป็นรางวัลใหญ่ของหมู่ศิลปินชาวอังกฤษ เมื่อปี 2532

สื่ออังกฤษตีข่าวการเสียชีวิตของลูเซียน ฟรอยด์ เมื่อวานนี้ หลังได้รับการยืนยันว่า ยอดศิลปินวัย 88 ปี จากโลกนี้ไปด้วยอาการป่วยที่ไม่ทราบสาเหตุ เมื่อวันพุธที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ปิดตำนานศิลปินที่โดดเด่นที่สุดในหมู่ศิลปินชาวอังกฤษร่วมสมัย ซึ่งบุกเบิกการตีแผ่แง่มุม 'เทาๆ' ของความเป็นมนุษย์ออกมาได้อย่างงดงาม โดยทิ้งผลงานให้เป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญของศิลปินรุ่นใหม่ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ตามความเชื่อที่เคยมีสายลมมากระซิบบอกว่า 'อายุศิลปินมักยืนยาวกว่ามนุษย์ทั่วไป เพราะความตายไม่อาจพรากจิตวิญญาณของศิลปินที่ถูกฝังอยู่ในผลงานศิลปะของเขาได้'